นายไพรัช ใหม่ชมภู เลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่าสถาบันครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนในวัยเรียน เพราะบ้านเป็นสถาบันแรกที่เด็กจะได้ซึมซับเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ และครูคนแรกของเด็กก็คือพ่อแม่ดังคำกล่าวที่ว่า "เริ่มที่พ่อ ก่อที่แม่ แก้ที่ครู" แต่จากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนกว่าในอดีต ผู้ปกครองในยุคนี้จึงต้องมีความรู้และความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูกในแต่ละช่วงวัย และร่วมสนับสนุนเสริมสร้างการเรียนรู้ยุคใหม่ให้กับบุตรหลานเพื่อให้เขามีคุณลักษณะที่พร้อมที่จะอยู่ในโลกยุคใหม่ได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต
"ทางภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาจึงได้นำโครงการโรงเรียนผู้ปกครอง(Super Parent)ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่มาสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ โดยได้จัดการอบรมให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองในพื้นที่ต่างๆ ไปแล้ว 6 รุ่น จำนวนกว่า 4,000 คน ซึ่งการที่ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูบุตรหลาน และเข้าใจทิศทางการจัดการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะช่วยให้ลูกหลานได้รับการพัฒนาไปตามศักยภาพอย่างเหมาะสมแล้ว เครือข่ายของผู้ปกครองที่เกิดขึ้นก็จะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ให้ประสบความสำเร็จได้"
ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ จาก สถาบันห้องเรียนแห่งอนาคต กล่าวในการเปิดการอบรมโรงเรียนผู้ปกครองในงาน "ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งที่ 2" ว่า ปัญหาของเด็กไทยวันนี้คือไม่รู้ว่าโตขึ้นมาจะไปเป็นอะไรมองอนาคตไม่เห็น มีหน้าที่เรียนก็เรียนตามกันไปตามหลักสูตรที่เหมือนๆ กัน
"ถึงเวลาแล้วที่ผู้ปกครองจะต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนความคิดในการเลี้ยงลูกและสนับสนุนเรื่องการศึกษาของลูกใหม่ ไม่ใช่แค่หาเงินส่งลูกไปโรงเรียนดีๆ ให้โรงเรียนรับผิดชอบลูกของเรา และตั้งเป้าว่าปริญญาตรีคือความสำเร็จของลูก วันนี้มีคนจบปริญญาตรีถึง 3 แสนคนแต่มีคนได้งานเพียง 1 แสนคน เรียนจบปริญญาตรีแล้วตกงานมหาวิทยาลัยและภาครัฐเขาก็ไม่รับผิดชอบ ดังนั้นแนวคิดและความเชื่อเก่าๆ ของเป้าหมายการศึกษาคือปริญญาตรีว่าเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จนั้น ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว"
ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า วันนี้ผู้ปกครองต้องถามตัวเองว่าความสำเร็จของลูกที่พ่อแม่ทุกคนต้องการคืออะไร? ใช่ 3 ข้อนี้หรือไม่ "มีงานที่มั่นคง มีรายได้ดี และมีความสุขในการทำงาน" วันนี้ความมั่นคงกับรายได้สูงไม่ได้ขึ้นกับวุฒิหรือใบปริญญาอีกต่อไปแล้ว แม้กระทั่งการรับราชการก็ไม่มั่นคงและไม่ใช่ว่าจะมีความสุขดังจะเห็นจากข่าวคราวต่างๆ อยู่เสมอ
"ดังนั้นผู้ปกครองต้องมองวันนี้และมองไปถึงอนาคตข้างหน้า เพราะเราไม่ได้จะพาลูกของเราย้อนเวลากลับไปหาความสำเร็จในอดีตหรือในสมัยของเรา และเราไม่สามารถที่จะใช้วิธีการเดิมๆ เช่นตั้งใจเรียน เข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด คณะที่ดีที่สุด เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของความมั่นคงและรายได้สูงอีกต่อไปแล้ว แต่เราจะต้องสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกของเรามี 4 เก่งให้ได้"
โดย "4 เก่ง" ที่ ดร.พิริยะ กล่าวถึงนั้นหมายถึง "เก่งเรียน" ที่ไม่ใช่เรียนเก่ง แต่หมายความถึงเก่งที่จะศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ไม่รู้อะไรก็หาความรู้ทันที ต้องเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่อยากเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ อย่ารอให้ครูหรือคนอื่นมาสอน ความรู้ต่างๆ มีอยู่อย่างมากมายในโลกโซเซียล ซึ่งพ่อและแม่ต้องสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับลูกและใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ
"เก่งงาน" ต้องทำงาน การทำงานหมายถึงการฝึกทักษะต่างๆ ซึ่งทักษะนั้นไมได้เกิดขึ้นจากการท่องจำแต่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เด็กจะต้องรักการทำงาน ไม่ดูถูกงาน การทำงานจะทำให้เกิดทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการพูดคุย เห็นคุณค่าของงาน ไม่เลือกงาน เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เห็นว่าการมีเงินแต่ไม่ทำงานนั้นไร้คุณค่า โดยจะต้องเริ่มจากงานในบ้านที่เกี่ยวกับตัวเอง
"เก่งที่ 3 คือ เก่งคิด วันนี้เราไม่เคยถามความต้องการของเด็ก กฎและระเบียบต่างๆ ในโรงเรียนรวมไปถึงการสอนแบบเดิมๆ ทำให้เด็กหมดโอกาสที่จะคิด ถ้าเด็กไม่ฝึกให้เขาคิดตั้งแต่วันนี้โตขึ้นไปแล้วเขาจะคิดได้อย่างไร ดังนั้นทั้งครูต้องเปลี่ยนวิธีการสอน พ่อแม่ต้องมีส่วนกระตุ้นช่วยให้เด็กติด เพราะโลกในวันนี้เกิดอาชีพหรือธุรกิจใหม่ขึ้นมาตลอดเวลาจากความคิด อย่าง Uber Grab หรือ Airbnb เจ้าของไม่ได้มีรถไม่ได้มีโรงแรมเป็นของตัวเองสักแห่ง แต่ก็ประสบความสำเร็จได้เพราะความคิด วันนี้ทั้ง เก่งเรียน เก่งงาน และเก่งคิด ยังเป็นเป้าหมายของพลโลกในทศวรรษที่ 21 ถ้าเราสนับสนุนทั้ง 3 ข้อนี้ให้เกิดขึ้นได้ลูกของเราจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน"
โดย "เก่งเรียน เก่งงาน เก่งคิด" ดร.พิริยะ ย้ำว่า ผู้ปกครองต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยกดดันให้หน่วยงานที่ดูแลด้านการศึกษาและสถานศึกษาเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็น Active Learning ปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กโดยเปลี่ยนการสอน การสอบจะต้องเน้นการนำเอาความรู้มาใช้มากกว่าการแก้หรือตอบโจทย์ และเปลี่ยนการวัดและการประเมินผลใหม่ให้สนับสนุนการสอนของครู จึงจะสามารถปฏิรูปการศึกษาของไทยได้
"ทั้ง 3 เก่งผู้ปกครองต้องเอาด้วย เราต้องมาร่วมมือกันกดดันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น และเก่งข้อสุดท้ายคือ เก่งชีวิต วันนี้โรงเรียนไม่ได้ช่วยให้เด็กของเราเก่งชีวิต แต่สิ่งที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังและบ่มเพาะได้ คือความซื่อสัตย์ อดทน และความรับผิดชอบ ถ้าเด็กของเรามี 3 อย่างนี้ไปแสวงหาความรู้ที่ไหนก็ได้ การศึกษาจะสร้างชาติได้เราจะต้องสอนคนของเราในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าเราไม่สร้างเด็กที่มีคุณภาพ เขาก็จะอยู่ในโลกอนาคตได้อย่างยากลำบากในโลกที่ทรัพยากรลดน้อยลงและในสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งการมี 4 เก่งจะทำให้ลูกหลานของเรามีรายได้สูงและมีความมั่นคง แต่การที่จะ มีความสุข นั้น เขาจะต้องได้ทำในสิ่งที่ชอบ วันนี้เราหาเงินเท่าไรก็เอามาใช้ซื้อความสุข แล้วทำไมเราถึงไม่ทำในสิ่งที่มีความสุข ซึ่งการค้นหาตัวตนและความต้องการของเด็กแต่ละคนให้เจอ จะทำให้เด็กไปเรียนก็ไม่เหนื่อย และเมื่อทำงานก็ทำงานได้ก็มีความสุข"
"บทบาทของผู้ปกครองในวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราต้องให้โอกาสเขาได้ลองทำในสิ่งที่ถูกและผิด ความผิดที่ไม่เหมือนที่เราคิดก็ต้องให้เค้าได้ลองทำ อยากทำอะไรบอกเขาว่าดี สร้างความมั่นใจให้กับเขา อนาคตของลูกไม่ใช่อนาคตของเรา ให้ความเชื่อมั่นและให้ความสนับสนุน อย่าไปดึงลูกกลับมาสู่อดีต หรือไปสู่อนาคตที่เราฝัน สุดท้ายก็คือการให้ความรัก การเลี้ยงลูกแบบตามใจลูกนั้นยาก เราจึงมักจะเลี้ยงลูกแบบตามใจเรา ต้องถามตัวเองว่าเราศรัทธาในตัวเขาหรือไม่ ให้โอกาส สนับสนุนความคิดของเขาด้วยความรัก ซึ่งโรงเรียนผู้ปกครองก็คือการทำให้ผู้ปกครองหันกลับมามองลูกของตัวเอง ซึ่งเชียงใหม่ถือว่าเป็นที่แรกของประเทศที่มีโรงเรียนแบบนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ชาวเชียงใหม่ทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องการมาช่วยกันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อการการศึกษาของคนเชียงใหม่" ดร.พิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ สรุป
โดย จังหวัดเชียงใหม่ และ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อต่อรัฐบาลและสังคมไทยให้สนับสนุนแนวคิดการศึกษาเชิงพื้นที่ ภายในงาน ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ประกอบไปด้วย 1) เสนอให้ ใช้ ม.44 ให้ กศจ. ทำงานร่วมกับ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ผ่านแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการต่อยอดและทำให้เห็นผลในเชิงปฏิบัติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ 2) ภาคีเชียงใหม่ฯ จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาของพื้นที่ สอดคล้องไปกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 20 ปี ด้วยการสนับสนุนและพัฒนาครูพันธุ์ใหม่โดยเชื่อมโยงกับการผลิตครูโครงการอื่นๆ ลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา ตั้งโมเดลโรงเรียนเท่าเทียมกัน และจัดตั้งกองทุนการศึกษาเชียงใหม่ 3) ขอให้รัฐบาลดำเนินตามข้อเสนอของภาคีเชียงใหม่ฯ ที่เสนอไปในปี 2558 ทั้ง 7 ข้อ และ 4) เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการกระจายอำนาจ และงบประมาณลงในการบริหารจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหารสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่าจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งใน 14 จังหวัดที่ทำงานร่วมกับ สสค. ในการปฏิรูปการศึกษา ภายใต้ โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ หรือ โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ Area-based Education (ABE)
"การจัดงานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งที่ 2 เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี ของการประกาศใช้ แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2559-2562) โดยได้มีการนำเสนอประสบการณ์จัดการศึกษาผ่าน 16 ห้องการเรียนรู้ ที่ถือเป็นรูปธรรมของความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือการจัดการศึกษาของภาคีเชียงใหม่ฯ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า การย่อส่วนปฏิรูปการศึกษาที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน ให้พื้นที่สามารถกำหนดทิศทางการศึกษาของเด็กเยาวชนของตนเอง ควรได้รับการขยายผลให้เป็นทิศทางของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศต่อไป" นายพัฒนะพงษ์ กล่าวสรุป.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit