บริษัท ที เอส เอ็น ไวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย ลวดนวัตกรรมใหม่ มาตรฐานญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ "เซนเทค" (SENTEC) ได้จัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ป.ทรัพย์อนันต์ ตำบลเขาแดง อำเภอสิงหนคร จ.สงขลา พร้อมสื่อมวลชนร่วมฟังบรรยาย เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนชาวประมง เกี่ยวกับการทำประมงและการใช้อุปกรณ์จับปูม้า ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อตอกย้ำแนวคิดการมีส่วนร่วมกับชุมชน และสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน พร้อมผลักดันสร้างต้นแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมสัมผัสวิถีชาวประมงพื้นบ้าน ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ป.ทรัพย์อนันต์ ชุมชนประมงต้นแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าอย่างยั่งยืน รวมถึงชมการวางลอบและเก็บลอบปู และร่วมทำกิจกรรมปล่อยปูม้าคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมสานต่อเจตนารมณ์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามโครงการพระราชดำริ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ รัชกาลที่ 9
คุณยุทธชัย เตชะวิจิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ-กลยุทธ์การตลาด กล่าวว่า ในฐานะบริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย "ลวดเซนเทค" สำหรับผลิตเครื่องมือประมงประเภทลอบดักปู ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมงไทย จึงได้ร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน ป.ทรัพย์อนันต์ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ในการสนับสนุนและรณรงค์การทำประมงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสม ไม่ทำลายทรัพยากรทางทะเล และมีประสิทธิภาพตรงตามมาตรฐานที่กำหนดของกรมประมง
บริษัทฯ จึงได้มอบผลิตภัณฑ์ "ลอบดักปูลวดเซนเทค" ที่ผ่านการทดสอบ ISO 9277 และถูกพัฒนาและออกแบบมา เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ การลดปริมาณขยะ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น สำหรับอุปกรณ์จับสัตว์น้ำประเภทลอบดักปู ให้กับกลุ่มเกษตรกรประมง และชาวประมงเรือ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2559 ที่ผ่านมา เพื่อนำไปทดลองใช้และทดสอบคุณภาพการใช้งานจริง ซึ่งลอบดักปูลวดเซนเทค สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาและประโยชน์โดยตรงต่อชาวประมง ทั้งด้าน ความคุ้มค่า ความทนทาน สามารถป้องกันการสึกกร่อนและ เกิดสนิมเมื่อใข้งานในน้ำทะเลนานกว่า 3 ปี ที่สำคัญช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้กว่า 2-6 เท่า และยังคงความสมดุลทางทะเลให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไปอีกด้วย
ทั้งนี้ การสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ป.ทรัพย์อนันต์ ตำบลเขาแดง อำเภอสิงหนคร จ.สงขลา ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจ เพื่อยืนยันพันธะสัญญาและความร่วมมือของบริษัทฯ ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับเกษตรกรประมง ที่นำไปสู่การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คุณยุทธชัย กล่าวเพิ่มเติม
ชำนาญ มานิล ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูม้า กลุ่มประมงพื้นบ้าน ป.ทรัพย์อนันต์ ระบุว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ป.ทรัพย์อนันต์ เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกประมาณ 200 คน ที่ประกอบอาชีพประมงในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่จะทำประมงในทะเลบริเวณแอ่งกระทะในเขตอำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด
ต่อมาชาวบ้านใน อ.สิงหนคร มีชาวประมงเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะที่ปริมาณสัตว์ทะเล โดยเฉพาะปูทะเลมีปริมาณที่ลดลง โดยก่อนหน้านี้ มีการใช้อวน ซึ่งทำลายธรรมชาติก่อนมาใช้ลอบดักปูม้า และต้องซื้อเองก่อนแต่งลวด มีค่าใช้จ่ายเยอะกว่า จะเสร็จ ทางกลุ่ม จึงได้ริเริ่มหาทางที่จะเพิ่มปริมาณปูทะเล โดยการรวมกลุ่มกันขอบริจาคปูไข่นอกกระดองจากสมาชิกเพื่อทำการเพาะพันธุ์ลูกปู ในระยะแรกยังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง จึงทำได้เพียงการปล่อยแม่ปูไข่ที่จับได้ลงทะเลเท่านั้น วิถีชีวิตของชาวบ้านก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีความรู้ว่าปูสามารถเพาะขยายพันธุ์เองได้ จนมาได้ความรู้ ได้เห็นวิธีการจากเรา ทำให้โครงการนี้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง และประสบความสำเร็จสามารถเพาะพันธุ์ปูม้าและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้มากกว่าปีละ 150 ล้านตัว นอกจากนี้ลูกปูที่เพาะได้จะถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเท่านั้น ไม่ขายให้ไปเพาะเลี้ยงต่อ
ปัจจุบัน ทางกลุ่มฯ มีการบริหารจัดการในลักษณะ "สหกรร์และธนาคารปูม้า" ใช้เทคนิคการเพาะปูม้าเพื่อผลผลิตแบบคุณภาพ การจัดการธนาคารปูม้าและการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ตลอดจนการทำประมงปูม้าอย่างมีความรับผิดชอบ และใช้นวัตกรรมอุปกรณ์จับปูม้าที่มีอายุการใช้งานยืนยาวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จับปูม้าด้วยนวัตกรรมลวดเซนเทค มาทดลองใช้เปรียบเทียบกับลวดธรรมดา หลังจากใช้ไปแล้วปีกว่าลวดยังไม่ขึ้นสนิม ปกติลวดธรรมดาที่ใช้อยู่ 9 เดือนก็เริ่มขึ้นสนิมแล้ว ทางกลุ่มฯ จึงได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์จับปูม้าที่ทำจากลวดเซนเทค ระยะแรกอาจจะลงทุนเยอะหน่อย แต่การใช้งานในระยะยาวคุ้มค่ากว่า ประหยัด เพราะไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย เพราะปกติเปลี่ยนปีละครั้ง แต่นี่อยู่ได้นานกว่า 2 ปี และมีความแข็งแรงทนทานต่อน้ำเค็ม และเครื่องจักรกล
สุวรรณา อินหมัน วัย 46 ปี ชาวประมงในชุมชนตำบลหัวเขา ผู้มีประสบการณ์ทำประมงจับปูม้ามามากกว่า 6 ปี บอกว่า เดิมทีชาวบ้านจะใช้อวนในการจับปู เพราะแต่ก่อนยังไม่มีการคิดค้นเครื่องมือดักปูที่หลากหลายเหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่หลังจากมีกฎหมายห้ามใช้อวนเป็นเครื่องมือในการจับปู รวมถึงมีการรณรงค์ให้ชาวประมงในชุมชนเลิกใช้อวน เพราะไปทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรในทะเล ก็เลยเปลี่ยนมาใช้ลอบดักปูแทน แต่ใช้ได้ไม่ถึงปีก็ต้องเปลี่ยน เพราะวัสดุมันไม่แข็งแรง พอสนิมเกราะ ก็เริ่มพังแตกหัก ไม่ค่อยทน จนกระทั้งทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ป.ทรัพย์อนันต์ แนะนำให้ลองเอาลอบดักปูลวดเซนเทคไปลองใช้ ปรากฏว่าดี ใช้มาปีกว่าแล้วก็ยังแข็งแรง ไม่ขึ้นสนิม อีกอย่างไม่ต้องเสียเวลาแต่งลวด ผูกตาข่ายบ่อยๆ ปัจจุบันมีเรือทั้งหมด 3 ลำ ก็ใช้ลอบดักปูเซนเทค โดยลำหนึ่ง ประมาณ 3,800 อัน โดยส่วนตัวคิดว่าจ่ายแพงกว่าหน่อย แต่ใช้ได้ในระยะยาวกว่า ไม่ต้องเปลี่ยนทุกปี หรือบางที 8 เดือนก็ต้องเปลี่ยนแล้ว ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงไปได้ และยังช่วยลดปัญหาขยะของชุมชนด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit