นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม 12 จังหวัด ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกจังหวัดและอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู ซึ่งในการบริหารจัดการและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติ โดยยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายต้องได้รับการช่วยเหลือหรือซ่อมแซมแล้วเสร็จครบทุกหลังโดยเร็ว ด้านการเกษตร จังหวัดต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครัวเรือนละ 3,000 บาท และเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ครบทุกรายภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ได้จัดทำแผนฟื้นฟูเพื่อซ่อมแซมถนน สะพาน ท่อลอดที่ได้ความเสียหายจากอุทกภัย ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่เกิดภัย หากการดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จังหวัดสามารถเสนอเรื่องขอขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีอำนาจอนุมัติในการขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่จังหวัดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม อีกทั้งให้จังหวัดประมาณการวงเงินงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมวางแผนการใช้จ่ายเงินทดรองราชการ รวมถึงจัดเตรียมข้อมูลการดำเนินโครงการให้พร้อม หากวงเงินทดรองราชการของจังหวัดไม่เพียงพอ ให้เสนอเรื่องมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทันที เพื่อประสานการปฏิบัติกับกระทรวงการคลังในการพิจารณาอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการแก่จังหวัดอย่างเร่งด่วนต่อไป นอกจากนี้ หากจังหวัดมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการ กิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย หรือการดำเนินการอื่นใดที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ให้จัดทำแผนงาน/โครงการ ส่งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป ที่สำคัญ ขอให้จังหวัดเร่งชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนถึงนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเร็ว