ความท้าทายของนักนิเทศศาสตร์ กับบทบาทการนำเสนอสื่อแก่ผู้พิการทางการมองเห็น

09 Mar 2017
นิสิตนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ก้าวข้ามความท้าทายทางด้านการสื่อสารแก่ผู้พิการทางสายตา และเห็นถึงความสำคัญของหนังสือเสียง จึงจัดโครงการ "เสียงนี้เพื่อน้อง" โดยการผลิต และรับบริจาคหนังสือเสียง นำไปมอบให้กับน้องๆผู้พิการทางสายตาโรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนา จ.แพร่ เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางการเรียนรู้
ความท้าทายของนักนิเทศศาสตร์ กับบทบาทการนำเสนอสื่อแก่ผู้พิการทางการมองเห็น

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา นิสิตภาควิชานิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก กว่า 40 คน ได้นำหนังสือเสียง เงินบริจาค และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ไปมอบให้กับคณะครู และนักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนา อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนการกุศลที่จัดกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบให้เปล่าให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น ในเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอน และใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และความสนุกให้กับน้องๆ

โครงการเสียงนี้เพื่อน้องเป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องของนิสิตสาขาวิชาการสื่อสารมวลชน โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ด้วยการต่อยอดมาจากปีที่แล้วที่ได้สอบถามความต้องการของน้องๆถึงเรื่องเนื้อหาของหนังสือเสียง น้องๆส่วนใหญ่เล่าให้ฟังว่าตนต้องการหนังสือเสียงลักษณะเนื้อหาที่บันเทิงบ้าง นอกเหนือจากแบบเรียน ในปีนี้ทางผู้จัดโครงการจึงสร้างสรรค์เนื้อหา รูปแบบ รวมไปถึงการนำเสนอเพื่อให้เข้าถึงน้องๆมากขึ้น เช่น นิยายแฟนตาซี ละครแนวสยองขวัญ หนังสือสองภาษาไทย-อังกฤษ แต่ยังคงหนังสือเรียนพื้นฐานไว้ ซึ่งในปีนี้แตกต่างต่างจากปีที่ผ่านมา โครงการหนังสือเสียงครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้จัดทำหนังสือเสียงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขึ้นเพื่อให้น้องๆผู้พิการทางสายตาเข้าถึงหนังสือเสียงประเภทนี้

ด้านผศ.กาญจนา เชี่ยววิทย์การ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ วิชาวิทยุเป็นสื่อเสียงเรามองว่า ในการทำงานสื่อมวลชน เราก็ต้องเป็นสื่อมวลชนเพื่อสังคมด้วย ก็เลยคิดว่า ใครกันที่เขาอยู่ในโลกมืด ก็เลยนึกถึงผู้พิการทางการมองเห็นหรือว่าคนตาบอด เราก็เลยคิดว่าเราควรจะออกแบบการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ ก็คือว่า ผู้เรียนซึ่งเป็นนิสิตของเราได้ฝึกในการผลิตรายการวิทยุในรูปแบบต่างๆ เอาไปใช้จริงกับน้องๆที่มองไม่เห็นที่ต้องอาศัยการฟังเป็นทักษะสำคัญในชีวิต และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้จริงๆ ก็เลยคิดว่าหนังสือเสียงเป็นประโยชน์ทั้งการเรียนรู้ในตามหลักสูตรนิเทศศาสตร์แก่นิสิตเราเอง ซึ่งผู้รับก็ได้นำไปใช้จริงๆและจะเป็นประโยชน์ต่อพวกขาในการเติมเต็มความรู้อีกด้วย

ขณะที่นางสาวเบญจรัตน์ มั่นคง นิสิตสาขาสื่อสารมวลชนปี 3 ประธานโครงการ บอกว่าการทำกิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะได้เปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับน้องๆแล้ว สิ่งที่เราได้กับมาก็คือเราได้เปิดโอกาสให้กับตัวเราเอง เราได้ฝึกการทำงานเป็นทีมกับเพื่อน ๆ ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ จากการได้ออกไปทำจิตอาสาเพื่อคนอื่นและสำหรับเด็กนิเทศศาสตร์อย่างเรา มันไม่ง่ายเลยที่จะทำให้คนอื่นเห็นศักยภาพเราในด้านอื่น และนี่ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้เราได้พิสูจน์ตัวเอง

เช่นเดียวกับคุณครูพัทธ์ธีรา กันทาทอง ที่ย้ำว่าเด็กตาบอดต้องใช้ทักษะในการฟัง ส่วนมากเด็กจะใช้หูฟังเสียงที่ได้ยินต่างๆ หนังสือเสียงก็จึงมีความสำคัญ หนังสือเสียงจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้ เช่น นิทาน เพลง มีส่วนช่วยมากในการพัฒนาเด็กให้ได้รับความรู้

โครงการเสียงนี้เพื่อน้องเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของนิสิตนิเทศศาสตร์ที่จะเติบโตออกไปเป็นนักสื่อสารมวลชนในอนาคต ทำให้รู้จักกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่คนปกติ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความบกพร่องทางด้านการรับรู้ จึงเป็นความท้าทายของนักสื่อสารมวลชนที่ต้องก้าวข้ามข้อจำกัดของผู้รับสาร

ในการจัดโครงการ นอกจากจะนำหนังสือเสียงไปมอบให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนาแล้ว ทางผู้จัดโครงการยังจัดตั้ง เพจ facebook ชื่อว่า "เสียงนี้เพื่อน้อง ม.นเรศวร" ขึ้นมาเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งหนังสือเสียงที่รวบรวมไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้พิการทางการมองเห็นต่อไป

ความท้าทายของนักนิเทศศาสตร์ กับบทบาทการนำเสนอสื่อแก่ผู้พิการทางการมองเห็น ความท้าทายของนักนิเทศศาสตร์ กับบทบาทการนำเสนอสื่อแก่ผู้พิการทางการมองเห็น