รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังกำหนดให้มีการจำแนกประเภทหรือจัดเรตติ้งวีดิทัศน์ที่เป็นเกมการเล่น โดยมีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตรวจอนุญาต และดำเนินการจัดเรตติ้งวีดิทัศน์ที่เป็นเกมการเล่นให้เหมาะสมกับผู้เล่นแต่ละช่วงวัย ได้แก่ ผู้เล่นทั่วไป ผู้เล่นอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ผู้เล่นอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ผู้เล่นอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ผู้เล่นอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และวีดิทัศน์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร นอกจากนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าอนุญาต แต่หากคณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้แก้ไขก็ให้เริ่มนับระยะเวลาใหม่ตามกำหนดเวลา 15 วัน นับตั้งแต่ส่งฉบับแก้ไขให้คณะกรรมการฯพิจารณา
รวมทั้งให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะหนึ่งหรือหลายคณะ โดยแต่ละคณะให้ประกอบด้วย บุคคลซึ่งคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ เป็นผู้แต่งตั้งมีจำนวนไม่เกิน 9 คน ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในสาขาต่างๆ อาทิ กฎหมาย ภาพยนตร์วีดิทัศน์ ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คน ทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ และพิจารณาดำเนินการตามคำสั่งต่างๆ ที่ออกตามพ.ร.บ. ฉบับนี้ ทั้งนี้ จะเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปตามลำดับขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบมูลค่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของประเทศไทย ในช่วงปี 2554-2558 ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งแอนิเมชั่น เพลงคาราโอเกะ เกมและโทรทัศน์ โดยในปี 2558 มีมูลค่าในภาพรวมทั้งหมดกว่า 2.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ มีแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นไปในทิศทางที่ดี
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอนุญาตให้จัดฉายภาพยนตร์ 7 เรื่อง จาก 8 ประเทศ อาทิ "Mustang" ของสาธารณรัฐตุรกี "Dev Bhoomi The Land Of Gods" ของสาธารณรัฐเซอร์เบียและสาธารณรัฐอินเดีย และ "I am a girl" ของเครือรัฐออสเตรเลีย เป็นต้น โดยจะนำไปจัดฉายในงาน "เทศกาลภาพยนตร์ฮีฟอร์ชี" ซึ่งเป็นงานเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคม 2560 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิล์ด ซีเนม่า ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือการใช้ตราสัญลักษณ์ในการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในและต่างประเทศโดยเห็นชอบให้ใช้ตราสัญลักษณ์ "CONTENT THAILAND" ในแต่ละโครงการหรือกิจกรรม เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ภาพยนตร์ไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกแบบวิธีการจัดวางตราสัญลักษณ์ให้เหมาะสม และนำมาเสนอต่อคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ อีกครั้ง