สสค. ร่วมกับ สกว. และมูลนิธิยุวสถิรคุณ เปิดประชุม “การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนต่อเนื่อง” รมว.ศธ. เล็งน้อมนำแนวพระราชดำริฯ “เด็กรักครู-ครูรักเด็ก” เป็นหัวใจการปฏิรูปการศึกษา

10 Mar 2017
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์จิตวิทยาศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ และมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมพัฒนาทีมโค้ชคุณภาพ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนต่อเนื่อง (SQIP) เพื่อบูรณาการงานวิจัยสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงระบบ โดยได้รับเกียรติจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในหัวข้อ "แนวคิด Growth Mindset และแนวทางการขยายผลสู่สถานศึกษา" พร้อมเผยแนวคิดปฏิรูปการศึกษาด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริฯ "ทำให้เด็กรักครูและครูรักเด็ก" มาใช้พร้อมเล็งปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนใหม่ด้วย "WHY" สอนคนให้ติดตั้งคำถาม ฝันอยากเห็นภาพเด็กไทยตื่นนอนแล้วอยากไปโรงเรียน ได้เรียนรู้อย่างสนุกและมีความสุข ไม่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในทุกมิติ
สสค. ร่วมกับ สกว. และมูลนิธิยุวสถิรคุณ เปิดประชุม “การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนต่อเนื่อง” รมว.ศธ. เล็งน้อมนำแนวพระราชดำริฯ “เด็กรักครู-ครูรักเด็ก” เป็นหัวใจการปฏิรูปการศึกษา

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของผู้ที่มีความตั้งใจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับแวดวงการศึกษาด้วยการศึกษาวิจัยและทดลองแนวทางบางอย่างเพื่อที่จะขยายผลไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งตรงกับข้อมูลของศ. John Hattie ที่พบว่าไม่มีเรื่องใดในวงการศึกษาที่ถูกออกแบบหรือทำขึ้นมาแล้วมีผลร้ายกับเด็ก เพียงแต่ว่าไม่มีเรื่องใดที่ทำแล้วคุ้มค่าและเกิดผลลัพธ์มากที่สุดเท่ากับการ "พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครู" ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "ทำให้เด็กรักครู และทำให้ครูรักเด็ก" ที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนและคุณภาพการศึกษามากที่สุด

"การปฏิรูปเชิงระบบนั้นแม้จะมีผลดี แต่ก็ไม่ส่งผลไปถึงตัวเด็กได้อย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับผลที่ได้จากการพัฒนาครูและเด็กที่จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่า วันนี้ผมอยากเห็นเด็กไทยตื่นเช้าขึ้นมาแล้วอยากไปโรงเรียน ไปเรียนแล้วสนุก ไปเจอคุณครูที่สอนแล้วเขามีความสุข ครูรู้จักเด็ก ครูใหญ่ก็รู้จักเด็ก แต่การปฏิรูปทั้งหมดเรามักจะลืมตรงนี้ไปเน้นไปที่ครู เน้นที่โครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ไม่ได้นึกถึงเด็ก ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงและจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะเกิดขึ้นจากสองเรื่องคือ การมีครูที่กระตือรือร้นที่จะสอน และการมีเด็กที่กระตือรือร้นที่จะเรียน โดยจะต้องเกิดจากที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องมี Growth Mindset โดยครูจะต้องสอนให้คนคิดและรู้จักที่จะตั้งคำถาม เด็กต้องเรียนรู้ที่จะต้องชอบถาม ดังนั้น Growth Mindset หรือจะเรียกว่า Learning mindset คือการเรียนด้วยความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาก็คือทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับทั้งครูและเด็ก ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้เกิดสถานศึกษาที่จัดให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งจะหมายถึงคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง"

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทวงศึกษาธิการ ยังระบุอีกว่าจากผลการทดสอบ Onet คณิตศาสตร์ล่าสุดนั้นเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยยังมีทักษะพื้นฐานที่ไม่ดี รวมไปถึงผลคะแนน PISA ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาการศึกษาที่ไม่ถูกต้องมาตลอด เพราะ PISA สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนที่มีผลคะแนนต่ำซึ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส

"ถ้าเราจะแก้ไข PISA ได้จะต้องให้ยาเฉพาะเจาะจง เพราะวันนี้ครูผู้สอนในโรงเรียนเหล่านี้ยังขาด และไม่มีครูเฉพาะทางเฉพาะสาขา ประเทศที่เรามองว่ามีการศึกษาที่ดีอย่างฟินแลนด์หรือสิงคโปร์นั้น เราต้องไม่ดูผลลัพธ์ว่าเขาทำอะไรในวันนี้ แต่ต้องมองย้อนหลังกลับไป 10-15 ปี จะเห็นว่าเขาแก้ไขเรื่องของความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ว่าจะไปดูแต่เรื่องของการพัฒนาหลักสูตร แม้หลักสูตรจะเป็นสิ่งจำเป็นแต่การนำหลักสูตรไปใช้ต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ วันนี้ครูของเราควรที่จะต้องมีคุณสมบัติ 2 คำคือ Work Hard และ Be Nice ครูที่ทำงานหนักทั้งปริมาณและคุณภาพควรได้รับการตอบแทน ไม่ใช่ทำวิทยานิพนธ์หรือทำผลงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะกลับไปสู่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กดังพระราชดำรัสฯ ทำให้เด็กรักครู ครูรักเด็ก ซึ่งจะต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน จึงจะสามารถปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ" นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ระบุ

สำหรับ โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนต่อเนื่อง(SQIP) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สสค. สกว. มูลนิธิยุวสถิรคุณ และ ม.นเรศวร เพื่อศึกษาและวิจัยแนวทางการยกระดับมาตรฐานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาจำนวนราว 200 แห่งในพื้นที่นำร่อง 14 จังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพการศึกษา พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางการรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อสะท้อนไปสู่การยกระดับการพัฒนาตนเองของสถานศึกษาเพื่อให้โรงเรียนต่างๆ หลุดพ้นออกจากกับดักและปัญหาของเกณฑ์การประเมินต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของสถานศึกษารวมไปถึงบริบทของพื้นที่