ทั้งนี้ ขณะนี้ดำเนินการจัดทำระบบคิวอาร์โค้ดในแหล่งเรียนรู้ต่างๆแล้วทั้งหมด 29 แห่ง โดยได้ติดตั้งระบบนำชมด้วยคิวอาร์โค้ดแล้ว 25 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติดำเนินการแล้วเสร็จ 17 แห่ง และในปี 2560-2561 จะดำเนินการเพิ่มอีก 27 แห่ง อุทยานประวัติศาสตร์ได้ดำเนินการแล้ว 7 แห่ง และในปี2561 จะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ขณะที่โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีได้ดำเนินการไปแล้ว 1 แห่ง และในปี 2560-2561 จะจัดทำเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนการนำระบบเออาร์ โค้ด มาใช้ในการนำชมได้ติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมด 4 แห่ง ขณะนี้ในส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 แห่งคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยระบบเออาร์โค้ดจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับศิลปวัตถุและโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจำนวน 138 รายการซึ่งจัดแสดงอยู่ใน 13 อาคาร โดยข้อมูลที่แสดงมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ในปี 2560-2561 จะติดตั้งเพิ่มอีก 4 แห่ง ขณะที่อุทยานประวัติศาสตร์ได้ดำเนินการแล้ว 2 แห่ง และจะติดตั้งเพิ่มในปี 2561 อีก3 แห่ง รวมถึงโบราณสถาน และแหล่งโบราณคดีดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และในปี 2560 -2561 จะดำเนินการเพิ่มอีก 4 แห่ง
นายวีระ กล่าวด้วยว่า การที่วธ.ดำเนินการนโยบายพัฒนาระบบนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีของ วธ. ด้วยระบบคิวอาร์โค้ด และเออาร์โค้ด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อจูงใจให้คนไทยและชาวต่างชาติทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เข้ามาชมแหล่งเรียนรู้ต่างๆของ วธ. ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้เข้าชมเพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟน ไอแพดและแท็บเล็ตสแกนไปที่คิวอาร์โค้ด หรือเออาร์โค้ดที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่จะได้รับข้อมูลความรู้ทั้งภาพนิ่ง วีดิทัศน์หรือภาพเสมือนจริงเกี่ยวกับโบราณสถาน ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ โดยจะปรากฏบนหน้าจอ ทำให้ได้รับความรู้อย่างเต็มที่และเพลิดเพลินในการเข้าชม ทั้งนี้วธ.ตั้งเป้าหมายจะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ