เมื่อเร็วๆ นี้ ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะบ้านหนองไม้แก่น ต.หนองลาน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี หนึ่งในชุมชนที่มี การทำงานโดดเด่น ตามแนวคิดของโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ซึ่งได้นำการใช้จักรยานเข้าไปต่อยอดบูรณาการในทุกโครงการฯ ที่ทางชุมชนได้ทำอยู่แล้ว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยผ่านแนวคิด "บวร : บ้าน วัด โรงเรียน" มาใช้ในการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัดหนองไม้แก่น ซึ่งมีพระครูกาญจนธรรมชัย เจ้าอาวาส เป็นศูนย์รวมใจให้ภาคีทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน เสริมทัพด้วยหน่วยราชการภายในพื้นที่ และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ที่เข้ามาหนุนเสริมในเรื่องทุน นโยบาย การประชาสัมพันธ์ และให้การสนับสนุนกิจกรรม จนทำให้ในวันนี้ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะบ้านหนองไม้แก่นถือว่าประสบความสำเร็จ และกำลังเดินหน้าสู่ "โรงเรียนนวัตกรรมความดี" คือความสุขของทุกคนในชุมชน ที่ได้มาร่วมกันคิดและสร้างสรรค์สิ่งดีงามร่วมกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายในภาพใหญ่โดยรวมต่อไป
พระครูกาญจนธรรมชัย เจ้าอาวาสวัดหนองไม้แก่น กล่าวว่า "ตั้งแต่ได้มาจำพรรษาที่วัดหนองไม้แก่น ก็ได้ทำการพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางของทุกฝ่าย คือให้ชาวบ้าน ราชการ โรงเรียน วัด มาพูดคุยปรึกษาร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้จักรยานนั้นเกิดประโยชน์ได้สูงสุด จากที่ผ่านมาอาตมาได้เดินบิณฑบาตในตอนเช้าก็มักจะเห็นซากจักรยาน จึงได้ขอรับบริจาคซากจักรยานที่เหลือใช้หรือไม่ต้องการจากชาวบ้าน เพื่อนำมาซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ต่อมาได้พัฒนาต่อยอดกลายเป็นคลินิกจักรยานและธนาคารจักรยาน ซึ่งจะรับบริจาคจักรยานนำมาซ่อมในคลินิกจักรยานโดยมีชาวบ้านเป็นจิตอาสา และยังได้นำเยาวชนมาเรียนรู้ในการซ่อมจักรยาน จนทำให้ในปัจจุบันชุมชนของเรามีจักรยานใช้เกือบ 100 คัน ต่อมาจึงได้มีการตั้งธนาคารจักรยานเพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้นำเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ภายในชุมชนหนองไม้แก่นยังมีศูนย์เรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิ ธนาคารขยะ ศูนย์เรียนรู้แพทย์แผนไทย โรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะสามารถเข้าไปต่อยอดบูรณาการในสิ่งที่มีอยู่แล้วได้ทั้งหมด เช่น จักรยานที่ได้รับบริจาคชิ้นส่วนที่ใช้ไม่ได้ จะถูกส่งต่อไปยังธนาคารขยะเพื่อคัดแยกและขายต่อไป
โดยกิจกรรมทั้งหมดที่ได้ทำนั้นมีเป้าหมายคือโรงเรียนนวัตกรรมความดี โดยรวมทุกกิจกรรมที่ชุมชนมีอยู่ไปสร้างแนว ทางวิถีชีวิต ให้กับชุมชนมีความยั่งยืนในทุกด้านต่อไป"
พระครูกาญจนธรรมชัย ยังได้กล่าวถึงแนวคิดโรงเรียนนวัตกรรมความดี ไว้ว่า "ความดี หมายถึงความสุขของทุกคนในชุมชน ที่ได้มาร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ร่วมกัน เป็นเรื่องที่เราจะต้องเรียนรู้ต่อไป ตอนนี้เราทำงานกันหลายโครงการมาก แต่ทุกโครงการคือเรื่องเดียวกันหมด จึงกำลังคิดจะเชื่อมโยงทั้งหมดด้วยโรงเรียนนวัตกรรมความดี ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน และโครงการจักรยานเพื่อสุขภาวะ คือส่วนหนึ่งที่จะ
หนุนเสริมให้เกิดความดีและความสุขสำหรับทุกคนในชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงคนทั้ง 3 วัยคือเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ ได้มาทำงานด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ที่ว่าเขามีความสุขไหม ถ้ามีความสุข ซึ่งก็คือความดี และเป็นสิ่งที่ชุมชนของเราจะต้องไปให้ถึงในจุดตรงนั้น"
ด้าน นายนราธิป สุภาราญ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลหนองลานได้กล่าวถึงการบูรณาการโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ เข้าสู่ในโครงการฯ อื่นๆ ที่ชุมชนได้ทำอยู่แล้ว เพื่อต่อยอดและเป็นฐานให้เกิดการเรียนรู้ต่อไปไม่สิ้นสุด ว่า "เราได้ขับเคลื่อนงานโดยใช้คำว่า บวร บ้าน วัด โรงเรียน และเพิ่มอีกคือราชการในท้องที่ แล้วก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แนวคิดก็คือเราไม่ได้ปั่นจักรยานเสร็จแล้วก็จบ แต่มีเรื่องของการเรียนรู้ เพราะจักรยานก็เป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ของชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้คนทั้ง 3 วัย เด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ เกิดการเรียนรู้ผ่านโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่เห็นประโยชน์จากการใช้จักรยาน ทำให้การขับเคลื่อนเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคนทั้ง 3 วัยในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และเด็ก ต่างสนใจหันมาใช้จักรยานมากขึ้นครับ"มาที่ นายวันชัย ญาติคำ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองไม้แก่น ได้กล่าวถึงแนวทางการการขับเคลื่อนชุมชนจักรยาน ด้วยการชวนให้คนทุกวัยหันมาใช้จักรยานกันอย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันว่า "พวกเราได้คุยกันว่าจะไม่จัดงานปั่นจักรยานในวันเดียวจบ แต่แนวทางของเราคืออยากให้มีการใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งก่อนที่จะมีโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ในโรงเรียนผู้สูงอายุซึ่งเป็นโครงการ หนึ่งในชุมชนของเรา ส่วนใหญ่ก็ใช้จักรยานเป็นพาหนะมาเรียนหนังสือกันอยู่แล้ว หรือในโรงเรียนบ้านหนองไม้แก่น เด็กนักเรียนก็ปั่นจักรยานมาที่โรงเรียนกันอยู่แล้ว ดังนั้นการกระตุ้นลงไปอีกเพิ่มเติมโดยให้ชาวบ้านหันมาใช้จักรยานเพื่อลดโลกร้อน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แถมยังได้สุขภาพที่แข็งแรง จึงเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้อย่างมาก จนทำให้ในตอนนี้ชาวบ้านและเด็กนักเรียนในชุมชนได้หันมาใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้น โดยชุมชนของเรานั้นมีโครงการที่จะทำให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็จะใช้การปั่นจักรยานกับผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานในชุมชนของเราด้วย อย่างแน่นอนครับ"
นอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังได้รับความร่วมมือจากครูและนักเรียนในโรงเรียนของชุมชน โดยทุกคนจะปั่นจักรยานเป็นพาหนะเดินทางมาที่โรงเรียน รวมทั้งเมื่อนักเรียนจะต้องไปออกกำลังกายเล่นกีฬาหรือพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ ฯลฯ โดยผู้สนใจเรื่องโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะปี 2 หรือเรื่องการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-6184434 และ 02-6185990 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit