นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT) กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เห็นถึงความสำคัญการอนุรักษ์และสืบสานเพื่อรักษาคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมในศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง เพื่อให้ดำรงคงอยู่ส่งต่อไปถึงคนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าสืบต่อไปโดยไม่สูญหายไปตามกาลเวลา และในขณะเดียวกัน ก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานผ่านการพัฒนาและสร้างสรรค์สู่ความร่วมสมัยและสมัยนิยม อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ศ.ศ.ป. จึงมีการดำเนินกิจกรรมคัดสรร "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" ขึ้น เพื่อทำการคัดเลือกกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีใจรัก ในงานศิลปหัตถกรรม ที่อาจเป็นทายาทสายตรง เป็นลูก หลาน ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น หรือเป็นลูกศิษย์ ที่มีความรักในงานหัตถกรรมดั้งเดิม รับการสั่งสอน ถ่ายทอดจากครูอาจารย์ ผู้อยู่ในวงการงานหัตถกรรม เมื่อมีการสืบทอด หรือสืบสานแล้วสามารถนำมาปรับปรุง พัฒนา และต่อยอดทางความคิด โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นงานหัตถกรรมในรูปแบบดั้งเดิม หรือผสมผสานประยุกต์งานให้มีความร่วมสมัย สร้างเอกลักษณ์งานหัตถกรรมให้เหมาะกับกลุ่มวัยและยุคสมัย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
ศ.ศ.ป มีการดำเนินกิจกรรมการคัดสรร "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีช่างฝีมือรุ่นใหม่ที่ได้รับการคัดสรร เชิดชูเป็น "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" ในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2556 ถึง ปี2559จำนวน 44 คนในหลากหลายประเภทงานศิลปหัตถกรรม เช่น งานผ้าทอ งานเครื่องเงินเครื่องทอง เครื่องโลหะ งานเครื่องปั้นดินเผา เครื่องรัก เป็นต้น
และกิจกรรมการคัดสรร ทายาทฯ ในปี 2560 เป็นการดำเนินงานเป็นปีที่ 5 ศ.ศ.ป. โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรม ร่วมพิจารณา บุคคลผู้มุ่งมั่นสืบสาน และสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม จากทั่วประเทศ และในปีนี้มีผู้ส่งผลงานมาทั้งสิ้น 88 ราย โดยล่าสุดได้คัดสรรผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ และมีผลงานโดดเด่นเหลือ 11 สุดยอดทายาทคนรุ่นใหม่ เป็น "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" ประจำปี 2560 โดยในจำนวนทายาทฯ ที่ได้รับการคัดสรรทั้ง 11 คน ในครั้งนี้ มีทั้งกลุ่มบุคคลที่เป็นทายาทผู้สืบทอดงานหัตถกรรมที่เน้นเชิงอนุรักษ์ศิลปะภูมิปัญญาดั้งเดิมดำเนินรอยตามบรรพบุรุษ เพื่อให้งานหัตถกรรมประเภทนั้นๆ ซึ่งนับวันจะมีผู้สืบทอดลดน้อยลง ให้คงอยู่และไม่สูญหายไปและกลุ่มบุคคลที่เป็นทายาทผู้สืบทอดที่มีการผสมผสานทั้งงานเชิงอนุรักษ์ดั้งเดิม และมีการต่อยอดด้วยการพัฒนาสร้างสรรค์หรือเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ดังได้แก่ นายพงษ์พันธุ์ ไชยนิล หัตถกรรมเครื่องปั้นดินมอญ นายสรพล ถีระวงษ์ ผลงานปักพัสตราภรณ์โบราณ นายสรภัทร สาราพฤษ หัตถกรรมเครื่องถม นางสาวณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี หัตถกรรมจักสานป่านศรนารายณ์ นายชัชวาล สหัสสพาศน์ หัตถกรรมปั้นปูนสด นายบุญชัย แก่บ้าน หัตถกรรมเครื่องประดับโบราณ นายทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ หัตถกรรมเครื่องเล่นแบบโบราณ นายธวัชชัย ชูจิต หัตถกรรมตอกหนังตะลุง นายเนติพงศ์ ไล่สาม หัตถกรรมลูกปัดมโนราห์ นายไวโรจน์ วานิ หัตถกรรมว่าวเบอร์อามัส และนางสาวหัสยา ปรีชารัตน์ หัตถกรรมเครื่องเบญจรงค์ ทั้ง 11 ทายาท นี้ถือว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งที่เป็นทายาทที่สืบสายเลือดเป็นลูกหลาน และเป็นลูกศิษย์ผู้มีจิตมุ่งมั่นมีใจรักงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ทั้ง 11 ทายาท จึงเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจ ที่จะมีส่วนในการนำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ต่อยอด พัฒนาและสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมออกสู่ตลาดได้อย่างเข้มแข็ง นางอัมพวัน กล่าว
ขอเชิญร่วมชื่นชมผลงาน 11 ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 ได้ที่นิทรรศการ "เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม"ภายในงาน IICF2017ระหว่างวันที่ 23 – 26 มีนาคม 2560 เวลา 09.00-20.00 น. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา
HTML::image(