วธ.เผยช่วง 4 เดือนปีนี้ ยอดผู้เข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์กว่า 2.2 ล้านคน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครกว่า 2.7 แสนคน หอจดหมายเหตุ ร.9 กว่า 3.5 หมื่นคน คนไทย-ต่างชาติ สนใจเรียนรู้ราชรถ-พระราชประวัติรัชกาลที่ 9

21 Mar 2017
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กรมศิลปากร (ศก.) ได้รายงานสถิติผู้เข้าใช้และเข้าชมแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากร ปีงบประมาณ 2558-2559 โดยในส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์ ในปี 2558 และปี 2559 มียอดผู้เข้าชมปีละกว่า 4 ล้านคน และปี 2560 ในช่วง 4 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 -เดือนมกราคม 2560 มียอดผู้เข้าชมกว่า 2.2 ล้านคน ขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปี 2558 และปี2559 มีผู้เข้าชม ปีละกว่า 2.6 ล้านคน และปี 2560 ช่วง 4 เดือน มีผู้เข้าชมกว่า 9.8 แสนคน โบราณสถานอื่นๆในปี2558 และปี 2559 มีผู้เข้าชมปีละกว่า 1.2 ล้านคน ขณะที่ปี 2560 ในรอบ 4 เดือนมีผู้เข้าชมกว่า 4.7 แสนคน

ขณะเดียวกันในส่วนของหอสมุดแห่งชาติปี 2558 มีผู้เข้าใช้กว่า 8.1 แสนคน ปี 2559 กว่า 7.5 แสนคน และปี2560 ในช่วง 4 เดือน มีผู้เข้าใช้กว่า 2.3 แสนคน และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ปี 2558 มีผู้เข้าชมกว่า 6.3 หมื่นคน ปี 2559 กว่า 7.4 หมื่นคน และปี 2560 ในรอบ 4 เดือน มีผู้เข้าใช้กว่า 6.7 หมื่นคน ขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปี 2558 มีผู้เข้าชมกว่า 2.8 แสนคน ปี 2559 กว่า 2.6 แสนคน และปี 2560 ช่วง 4 เดือนมีผู้เข้าชมกว่า 2.7แสนคน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกัน ในปี 2559 มียอดผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นกว่า1.8 แสนคน เนื่องจากคนไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้าชมเพื่อศึกษาการบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ รวมทั้งเครื่องประกอบในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและเข้าชมนิทรรศการทรงสถิตในดวงไทยนิรันดร์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รัชกาลที่ 9 ปทุมธานี ในปี2558 มีผู้เข้าชมกว่า 9 พันคน ปี 2559 กว่า 5 พันคนและปี 2560 ในรอบ 4 เดือน มีผู้เข้าชมกว่า 3.5 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2559 มีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นกว่า 3.4 หมื่นคน เนื่องจากประชาชน นักเรียน และนักศึกษาสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจนานัปการ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย

ทั้งนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เยาวชนและประชาชนสนใจเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย และพระราชประวัติรัชกาลที่9 ซึ่งนโยบาย วธ. มุ่งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้งอุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติให้มีความทันสมัย มีความเป็นสากล รวมทั้งมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าชม พัฒนาระบบนำชมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับปรุงนิทรรศการที่จัดแสดง ซึ่งล่าสุดกรมศิลปากรได้รายงานความคืบหน้าการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ขณะนี้ได้ออกแบบการติดตั้งเครื่องปรับอากาศพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และตำหนักแดงเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยตั้งเป้าหมายจะติดตั้งให้เสร็จภายในปีนี้ ส่วนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อยู่ระหว่างการออกแบบเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้ง นอกจากนี้จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศพระที่นั่งบูรพาภิมุข รวมถึงจะปรับปรุงศาลาลงสรงและพัฒนาภูมิทัศน์พื้นที่โดยรอบด้วย