ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ตามที่ TCELS ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดโครงการอบรมแบบต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากระดับต้นแบบไปสู่การออกตลาดเชิงพาณิชย์ ซึ่งการอบรมครั้งแรกเป็นการให้ความรู้ด้าน Software Validation สำหรับเครื่องมือแพทย์ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญในการพัฒนามาตรฐานเครื่องมือแพทย์ไทยสู่ระดับสากล อันเนื่องมาจากการขาดประสบการณ์ความรู้และจำนวนผู้เชี่ยวชาญโดยตรงที่มีอยู่ในประเทศ และการสัมมนาครั้งที่ 2 นี้ คือ หัวข้อ IEC Standards for Medical/Electronical Device/Equipment ซึ่ง IEC เป็นมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้า ที่ระบุข้อกำหนดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยทางไฟฟ้าของเครื่องมือทางการแพทย์ ที่น่าสนใจ"
"TCELS มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสผนึกกำลังกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP เพื่อมุ่งเน้นให้ความรู้กับผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ นักวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำความรู้ไปขยายผลและยกระดับเทคโนโลยี มาตรฐานเครื่องมือทางการแพทย์ของไทยให้สามารถเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น"
ดร.ณัฐกา สิงหวิลัย ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า "โปรแกรม ITAP สวทช. ร่วมมือกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้เรื่อง "IEC Standards for Medical Electronical Device/Equipment" ภายใต้ซีรีส์สัมมนา "การยกระดับต่อยอดเครื่องมือทางการแพทย์ไทยในยุค Thailand 4.0" ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 จากทั้งสิ้นจำนวน 3 ครั้ง โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศร่วมให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ตรงแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาตลอดสองวันเต็ม เพื่อมุ่งเน้นถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีออกสู่ภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ประกอบการ รวมถึงนักวิจัย และผู้เกี่ยวข้อง ให้ทราบถึงความสำคัญและเข้าใจถึงมาตรฐานเกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น มาตรฐานตามข้อกำหนดของ IEC (Internationnal Electrotechique Commission) หรือคณะกรรมมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็คทรอเทคนิค เป็นต้น ซึ่งปัญหาเรื่องมาตรฐานพบว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทยสู่ระดับสากล โดยการสัมมนาดังกล่าวนอกจากจะเป็นยกระดับความรู้เรื่องมาตรฐานแล้ว ยังเป็นการขยายผลและยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ตลอดจนสร้างความตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และกระบวนการใหม่ เพื่อพัฒนามาตรฐานเครื่องมือแพทย์ไทยสู่ระดับสากลต่อไป"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit