นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แถลงว่า จากประเด็นข่าวการคัดค้านการทำเหมืองและคำขอทำเหมืองใกล้วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ในระยะ 2,000 เมตร อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เนื่องจากห่วงผลกระทบต่อภาพสลักนูนต่ำยุคทวารวดีบนผนังในถ้ำพระโพธิสัตว์นั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมตามข้อร้องเรียนทุกด้านมาโดยตลอด โดยปัจจุบันในรัศมี 2,000 เมตรรอบถ้ำพระโพธิสัตว์ มีการเปิดการทำเหมือง จำนวน 1 ราย คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตประทานบัตรชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดาน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ 15 - 23 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีหน้าเหมืองอยู่ห่างจากสิ่งก่อสร้างภายในวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ใกล้ที่สุดประมาณ 1,500 เมตร ผลการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนและแรงอัดอากาศมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อถ้ำพระโพธิสัตว์ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้การทำเหมืองเกิดผลกระทบต่อสถานที่สำคัญต่าง ๆ ภายในวัด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัทฯ ให้ปฏิบัติตามแผนผังโครงการทำเหมือง และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเคร่งครัด
นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการคัดค้านคำขอประทานบัตรทำเหมืองบริเวณวัดถ้ำพระโพธิสัตว์นั้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการยื่นคำขอประทานบัตรชนิดแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ จำนวน 2 ราย คือ นายสุเมธ เชาวนปรีชา ยื่นคำขอประทานบัตรที่ 9/2558 ชนิดแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อยู่ห่างจากวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 1,500 เมตร และบริษัท ตวงสิทธิ์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ยื่นคำขอประทานบัตรที่ 10/2558 ชนิดแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อยู่ห่างจากวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 280 เมตร โดยคำขอประทานบัตรทั้ง 2 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการของจังหวัดสระบุรี ยังไม่ได้รับอนุญาตประทานบัตรแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะมีการประมวลเรื่องการร้องเรียนคัดค้านดังกล่าวเสนอคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมป่าไม้ กรมที่ดิน กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณาให้ความเห็นว่าควรอนุญาตหรือไม่อนุญาตประทานบัตรต่อไป
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 6 นครราชสีมา ตรวจสอบปริมาณแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ในพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 2 ราย หากปริมาณแร่ดังกล่าวมีไม่พอเพียงที่จะเปิดการทำเหมืองได้ จะแจ้งให้ผู้ขอถอนคำขอ หรือยกคำขอประทานบัตรดังกล่าว ตามมาตรา 47 (4) พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ต่อไป นายสมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย30 มีนาคม 2560