นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เผยว่าปัจจุบันแม้ประเทศไทยยังคงเป็นเพียงประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่มีอีกหลายประเทศที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และทำรายได้จากการส่งออกวัตถุดิบยางพาราออกสู่ตลาดโลกได้เช่นเดียวกับประเทศไทย ดังนั้น ประเทศไทยควรมีการปรับกลยุทธ์จากการเป็นประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบยางพารา ให้เป็นประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา ที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค หรือตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยงานวิจัยนวัตกรรม การพัฒนากระบวนการผลิต และมาตรฐานสินค้าต้องมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
"การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางพารา ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมืองานวิจัยยางพาราร่วมกัน จนเกิดเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ในที่สุด ดังนั้น กยท. และ สกว. ได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสององค์กรหลักด้านการวิจัยและพัฒนายางพารา ในการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัย การให้ทุนสนับสนุนการวิจัย การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ การประชุม สัมมนาวิชาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ" นายณกรณ์ กล่าว
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือด้านยางพารา ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเป็นการร่วมกันปฏิบัติตามข้อตกลงและขอบเขตที่กำหนดไว้ โดย กยท. และ สกว. จะร่วมมือกันจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยยางพาราแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564) เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งให้การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและการต่อยอดผลการวิจัยยาง และจะมีการจัดการประชุมและสัมมนาวิชาการยางที่ตรงกับภารกิจของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านยาง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งสองหน่วยงานด้วย