และในปี 2560 นี้ มีโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 2,000 KW หรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 2,350 KVA ขึ้นไป หรือใช้พลังงานรวมตั้งแต่ 40 ล้านเมกะจูลต่อปี รวมทั้งโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนในปี 2559 สามารถขอรับการสนับสนุนฯได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 3,600 แห่ง ทั่วประเทศ โดยผู้ที่จะได้รับเงินสนับสนุนสามารถขอรับการสนับสนุนได้ครั้งเดียว และผ่านหลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังต่อไปนี้
• ต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ภายใน 31 มีนาคม 2560
• ต้องมีผลการอนุรักษ์พลังงาน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5 ของปริมาณการใช้พลังงานรวม หรือมีผลประหยัดจากการดำเนินการมาตรการอนุรักษ์พลังงานไม่น้อยกว่า 300,000 เมกะจูล
• ต้องยื่นใบสมัครขอรับการสนับสนุนภายใน 31 พฤษภาคม 2560
ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้การดำเนินการจัดการพลังงานดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด พพ. จึงได้จัดทำ"โครงการส่งเสริมการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไกการตรวจสอบ และรับรองการจัดการพลังงานตามกฎหมาย" โดยจัดสรรเงินสนับสนุนแบบให้เปล่าจำนวน 40,000 บาทสำหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และ พพ.ได้จัดให้มีการสัมมนาโครงการฯขึ้น ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และภูมิภาคที่มีอาคารและโรงงานตั้งอยู่หนาแน่น รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, อยุธยา, สมุทรปราการ, และเชียงใหม่ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขอรับการสนับสนุนในโครงการดังกล่าว
รองอธิบดี พพ. กล่าวต่อไปว่าการดำเนินการจัดการพลังงานปี พ.ศ. 2561 ซึ่งโรงงานและอาคารควบคุมต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561 นั้น ซึ่งครอบคลุมการให้การสนับสนุนทั้งหมดแก่โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม นับเป็นกลไกใหม่ที่มีความท้าทาย ภารกิจสำคัญตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 2558 - 2579 (EEP 2015) ที่ได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานต่อผลผลิตหรือที่เรียกว่าค่า Energy Intensity ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและนำไปสู่การอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมต่อไป