นายกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) กำหนดให้ปี 60 เป็นปียกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร และคณะกรรมการบริหาร อ.ต.ก.ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงให้ อ.ต.ก. จัดสรรพื้นที่กว่า 400 ตารางเมตร เพื่อเปิด "ตลาดเกษตรอินทรีย์" Organic Market ให้เป็นตลาดเกษตรอินทรีย์สำหรับเกษตรกรจำหน่ายโดยเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการด้านการเกษตร และเพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยดำเนินการจัดจำหน่ายทั้งปลีกและส่งในประเทศและต่างประเทศ โดยพัฒนาให้เป็นตลาดเกษตรอินทรีย์ถาวรต่อไป และประกอบกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ในการจัดตั้งตลาดเพื่อให้เป็นแหล่งกลางในการซื้อขายผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าอื่นๆ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรนำผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนมาจัดจำหน่ายโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวอีกว่า เกษตรอินทรีย์ไทยในปี พ.ศ. 2559 ได้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีการขยายตัวสูงถึง 21% ซึ่งการขยายตัวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในส่วนของข้าวออร์แกนิค (28%) และพืชผสมผสาน (187%) ในปี 2561 มีแนวโน้มว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวหันมาปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ในขณะเดียวกันตลาดออร์แกนิคในประเทศและต่างประเทศก็ดูเหมือนจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกษตรอินทรีย์ไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างคึกคัก และจากการสำรวจข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท1 พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 235,523.35 ไร่ ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 284,918.44 ไร่ ในปี พ.ศ. 2558 (เพิ่มขึ้น 20.97%) ในส่วนของจำนวนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในช่วงเวลาดังกล่าวก็ขยับเพิ่มขึ้นจาก 9,961 ฟาร์มในปี พ.ศ. 2557 เป็น 13,154 ฟาร์ม ในปี พ.ศ. 2558 ในรายงานการศึกษาตลาดพบว่า ตลาดสินค้าออร์แกนิคไทยในปี 2557 มีมูลค่ารวม 2,331.55 ล้านบาท โดย 1,187.10 ล้านบาทเป็นตลาดส่งออก (77.9%) และ 514.45 ล้านบาทเป็นตลาดในประเทศ (22.06%) โดยช่องทางตลาดออร์แกนิคในประเทศที่ใหญ่ที่สุด คือ โมเดิร์นเทรด (59.48%) ซึ่งมีอยู่ 8 บริษัท 171 จุดจำหน่าย เป็นช่องทางที่มีจำนวนมากที่สุด มีสินค้าออร์แกนิค 150 – 1,500 รายการในจุดจำหน่าย มีมูลค่าการขายรวม 306 ล้านบาท/ปี รองลงมาคือ ร้านกรีน (29.47%) ซึ่งมีจุดจำหน่าย 33 แห่ง มีรายการสินค้าออร์แกนิคเฉลี่ย 229 รายการ มียอดขายรวม 151.62 ล้านบาท/ปี ร้านอาหาร (5.85%) และมีจุดจำหน่ายปลีก (sale point) สินค้าออร์แกนิคประมาณ 251 แห่ง สำหรับการส่งออกนั้น ในปี 2557 ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเป็นสินค้าออร์แกนิคส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศ โดยมีมูลค่าสูงถึง 1,201.00 ล้านบาท/ปี (66.1%) รองลงมาคือ ข้าวออร์แกนิค ซึ่งมีมูลค่าส่งออกราว 552.25 ล้านบาท (30.4%) โดยตลาดออร์แกนิคในภูมิภาคยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดในทุกหมวดสินค้า รองลงมาคือ อเมริกาเหนือ ส่วนตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ