ชุมชนในประเทศไทยเคลื่อนไหวปลดแอกพลังงานสกปรก ร่วมกำหนดอนาคตพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรม

05 Apr 2017
ในวันนี้ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม( EnLaw) โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง(TERRA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมจัดเวทีเสวนา "Break Free พลังงานและความเป็นธรรม" ในวาระการรณรงค์ปลดแอกพลังงานสกปรกที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ระบุ การวางแผนนโยบายพลังงานของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (power development plan) เป็นกระบวนการที่สร้างปัญหาถึงขั้นวิกฤต โดยเน้นสร้างโรงไฟฟ้า ขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์ที่ก่อมลพิษและสร้างความขัดแย้ง อย่างเช่นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขณะที่มีทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า สะอาดกว่า ยั่งยืนและมีความเป็นธรรมและถูกกว่า

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา "ความมั่นคงทางพลังงาน" เป็นวาทะหลักในการสร้างความชอบธรรม ของแผนพัฒนา กำลังผลิตไฟฟ้าซึ่งร่างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ภายใต้แนวนโยบายกว้างๆ ของกระทรวงพลังงาน และส่งผ่านไปที่คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบในขั้นสุดท้าย จากนั้นคณะรัฐมนตรี มักจะให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไขอีก ในขณะที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจหลักๆ หลายคนที่อยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ ในกระทรวงพลังงาน ก็นั่งเป็นคณะกรรมการอำนวยการของบริษัทพลังงานต่างๆ ที่มีผลประโยชน์โดยตรงในกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าด้วย (1)

สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า "หากเราต้องการเห็นการปฏิรูปพลังงานที่แท้จริง และพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าของไทยให้ก้าวหน้าบนพื้นฐานการคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม การปกป้องสิ่งแวดล้อม ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่าย เราต้องปลดล๊อคการผูกขาดพลังงานตั้งแต่ระดับนโยบาย องค์กรที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าใหม่อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จะต้องไม่เข้ามาเป็นผู้วางแผนพลังงานของประเทศ เพราะจะสร้างปัญหาไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินมาตรฐาน กฟผ. จะต้องเข้าเสนอราคาขายไฟฟ้าแข่งขันกับภาคเอกชน แทนการได้รับจัดสรรให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าของรัฐที่ผูกขาด"

กรณีที่ คสช.ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครองจัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยจัดขึ้นที่จังหวัดกระบี่ สงขลา และสุราษฎร์ธานี ในวันเดียวกันนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ให้ความเห็นว่า "การวางแผนระบบพลังงาน เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของไทยยังคงขาดการวิเคราะห์และพินิจพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดการจัดการพลังงานที่เป็นธรรม ทุกจังหวัดของภาคใต้และประเทศไทย ควรตั้งเป้าหมายให้พึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานให้ได้มากที่สุด และรัฐบาลรวมถึง กฟผ. ควรให้การสนับสนุนเรื่องสายส่งและการรับซื้อเข้าระบบไฟฟ้า เป้าหมายของภาคใต้คือ การเป็นภูมิภาคแห่งความยั่งยืน ความมั่นคงทางด้านพลังงานของภาคใต้จึงต้องไม่ใช่เพื่อผู้ใชัพลังงานในวันนี้แต่เป็นความมั่นคงที่ลูกหลานคนใต้จะได้อยู่กับภูมิภาคที่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ในอนาคตด้วย ถ่านหินคือเทคโนโลยีของอดีต แต่ภาคใต้เป็นภูมิภาคแห่งอนาคต"

เวทีเสวนา "Break Free พลังงานและความเป็นธรรม" ยังได้นำเสนอรายงาน "รุ่งเรืองแล้วร่วงโรย การติดตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกปี 2560" (2) ซึ่งชี้ชัดถึงการลดลงของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 100 แห่งในจีนและอินเดียหยุดชะงัก ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างนั้น ลดลงร้อยละ 62 กิจกรรมก่อนการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกลดลงร้อยละ 48 และโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่ได้รับอนุญาตในจีนลดลงถึงร้อยละ 85 จากข้อมูลในรายงาน การชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกซึ่งอยู่ในแผนพัฒนา และการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าที่มีมากขึ้น ได้นำไปสู่โอกาสที่เป็นไปได้ของการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

รายงานยังระบุว่ายังคงมีการเดินหน้าผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ตุรกี อียิปต์ ปากีสถาน บังคลาเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันร้อยละ 75 ของแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่นอกจีนและอินเดีย) ทั้งๆที่กลุ่มประเทศเหล่านี้คือแนวร่วมในการยุติยุคถ่านหินเพื่ออนาคตพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรม และเป็นความหวังในการกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องประเมินผลกระทบและต้นทุนชีวิตของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา จากการลงทุนถ่านหินและพลังงานสกปรกจากประเทศไทย การวางแผนนโยบายพลังงานของไทยจะต้องรับประกันสิทธิของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด"