กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชู กลยุทธ์ 5 Good ที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้า ได้แก่ 1.Good Shape 2.Good Brand 3.Good Material 4.Good Graphics & Design และ 5.Good for Environment โดยในปี 60 ได้เร่งผลักดันนโยบายการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับผลิตภัณฑ์โอทอป อัดกิจกรรมยกระดับและส่งเสริมสินค้าชุมชนเพื่อสนับสนุนรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ พร้อมจัดสรรงบประมาณผ่านโครงการเพื่อการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กว่า 45 ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล โครงการส่งเสริมพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สินค้าผู้ประกอบการได้เพิ่มโอกาสทางการตลาด สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นปัญหาและหัวใจของผลิตภัณฑ์โอทอปที่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังประการหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันถือว่ายังขาดมาตรฐานและความโดดเด่นในการดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการในหลายกลุ่มสินค้าต้องสูญเสียโอกาสทางการตลาดในหลายๆด้านไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งการสร้างความน่าเชื่อถือและการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ การสร้างจิตวิทยาด้านคุณค่าต่อผู้บริโภค รวมไปถึงการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารูปแบบบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนประกอบและกลไกที่สำคัญทางการตลาดในแต่ละธุรกิจอย่างมาก ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งที่สุดปลายทางก็จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยให้เกิดยอดจำหน่ายที่สูงมากขึ้นในอนาคต
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า จากความสำคัญและปัญหาข้างต้น ในปี 2560 นี้ กสอ.จึงได้เร่งนโยบายการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าโอทอปเพื่อยกระดับให้วิสาหกิจชุมชนสามารถไต่ระดับขึ้นไปสู่ SMEs ที่สามารถพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ด้วยการใช้นวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์ การเพิ่มผลิตภาพและการพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ โดยมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอย่างเต็มกำลัง อาทิ โครงการบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์การให้บริการจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ การจัดฝึกอบรมให้เกิดบุคลากรด้านการออกแบบและบุคลากรในด้านบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ การจัดประกวดบรรจุภัณฑ์ผ่านกิจกรรม ThaiStar PackagingAwards นอกจากนี้ยังได้จัดสรรงบประมาณกว่า 45 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับโดยตรง ได้แก่ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โครงการส่งเสริมพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยบรรจุภัณฑ์ และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล ซึ่งเชื่อว่าโครงการและกิจกรรมดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้สินค้าได้เพิ่มโอกาสทางการตลาดสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมแข่งขันในตลาดสากลได้ต่อไปในอนาคต
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสอ.ยังได้รวบรวมกลยุทธ์ 5 good ที่สำคัญในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนและนักออกแบบบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องคำนึงถึง ดังนี้
1. Good Shape รูปทรงของบรรจุภัณฑ์ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเนื่องจากต้องใช้ในการห่อหุ้มสินค้าซึ่งผู้ประกอบการจะต้องผลิตรูปร่าง ขนาดบรรจุที่มีมาตรฐาน สวยงาม มีความเหมาะสมกับปริมาณและจำนวนผลิตภัณฑ์เนื่องจากสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดปริมาณขยะ ส่งผลต่ออายุการจัดเก็บและเหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ที่จะเป็นการสื่อสารให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องผลิตรูปทรงให้มีความหลากหลาย เพราะผู้บริโภคมีความต้องการ และงบประมาณการซื้อที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ขนาดที่เหมาะสมและรูปร่างที่น่าจับต้องและออกแบบให้สะดวกต่อการใช้ย่อมเป็นสิ่งที่จะช่วยเร้าอารมณ์ให้ผู้พบเห็นอยากซื้อสินค้าได้เป็นอย่างดี
2. Good Brand ตราสินค้าถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าได้ โดยสามารถบ่งบอกได้ถึงเอกลักษณ์รูปร่างหน้าตาภายนอกที่จะทำให้เกิดการจดจำ บุคลิกภาพของสินค้า คุณประโยชน์ ต่อยอดถึงการสร้างคุณค่าและสร้างความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ สำหรับการสร้างตราสินค้าที่มีพลังและส่งผลต่อผู้บริโภคนั้นจะต้องประกอบไปด้วย ชื่อสินค้า สโลแกน สัญลักษณ์ การออกแบบ โดยสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดสินค้าว่ามีความแตกต่างหรือน่าสนใจกว่าคู่แข่งอย่างไร ดังนั้น เมื่อภาพลักษณ์ของตราสินค้าที่แข็งแกร่งได้รับการออกแบบและความสนใจอย่างดี ก็จะสามารถช่วยให้ธุรกิจเกิดชื่อเสียง ต่อยอดถึงความมั่นคงในการดำเนินกิจการ พร้อมทั้งช่วยให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนอีกด้วย
3. Good Material วัสดุที่มีคุณภาพมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การที่ผู้ประกอบการตัดสินใจว่าจะใช้วัสดุอะไรมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์นั้น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และคุณสมบัติของวัสดุ แต่ละประเภทที่จะนำมาใช้ เนื่องจากวัสดุที่มีคุณภาพสามารถช่วยในการดูแลรักษาคุณภาพของสินค้าให้คงเดิมตั้งแต่การผลิตจนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงรสชาติ คุณค่า การถนอมคุณภาพของสินค้าให้มีอายุยาวนานขึ้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์บางประเภทยังจำเป็นจะต้องใช้วัสดุเฉพาะในการบรรจุ ไม่สามารถใช้สิ่งอื่นทดแทนได้ ดังนั้น การศึกษาความรู้และเลือกใช้วัสดุที่ดีก็จะช่วยให้ควบคุมต้นทุนการผลิตและกระตุ้นยอดขายได้ ทั้งยังจะช่วยให้สินค้ามีคุณภาพดูน่าใช้งานและดูโดดเด่นขึ้นมาอีกด้วย
4. Good Graphics & Design ลักษณะการออกแบบกราฟฟิกบนบรรจุภัณฑ์สามารถแสดงบทบาทหน้าที่สำคัญได้ทั้งการสร้างทัศนคติที่ดีงามต่อผลิตภัณฑ์และผู้ผลิต แสดงสรรพคุณและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ภายในช่วยในการถ่ายทอดความรู้สึกจากรูปทรง เส้น สี ฯลฯ ว่าผลิตภัณฑ์คืออะไร สำหรับกลยุทธ์การดีไซน์บรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องออกแบบให้สะท้อนเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ที่แสดงออกถึงความร่วมสมัยแฝงความหมายบนตราสินค้าให้ดูน่าสนใจ โดยผลลัพธ์จากการปฏิบัติตามข้อดังกล่าวนี้จะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ช่วยสร้างมูลค่าและโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ทั้งยังต่อยอดถึงการเป็นที่ยอมรับและสามารถผลักดันสินค้าเข้าสู่ระดับสากลได้ในอนาคต
5. Good for Environment นอกจากบรรจุภัณฑ์จะมีลวดลายที่สวยงามและความคิดสร้างสรรค์แล้วการคำนึงถึงความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึง ตั้งแต่เรื่องของการเลือกใช้วัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิต จนกระทั่งถึงกระบวนการกำจัดทิ้งทำลายเมื่อหมดอายุการใช้งาน หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ถือเป็นการยืดอายุการใช้งานบรรจุภัณฑ์ให้ยาวนานขึ้น เป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานและยังเป็นการช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.0 2 367 8339 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ที่www.facebook.com/dip.pr