ดร. วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเปิดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การลงทุนในตราสารหนี้สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์ว่า การลงทุนในกิจการต่างๆ ในปัจจุบันมีอยู่อย่างกว้างขวางและมีการลงทุนในหลายประเภท ประกอบกับการตัดสินใจของผู้บริหารเกี่ยวกับการลงทุน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องเลือกพิจารณาและประเมินการลงทุนในตราสารหนี้อย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องของผลตอบแทนและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งต้องศึกษาเครื่องมือและเทคนิคในการวิเคราะห์การลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดจากการลงทุนอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งให้เกิดการวางแผนทางการเงินเพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
การสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการลงทุนต่างๆ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วยกัน พร้อมด้วยประสบการณ์ในการบริหารจัดการสหกรณ์ซึ่งกันและกัน การร่วมกันเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน สำหรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อขบวนการสหกรณ์ ขณะเดียวกันในกลไกสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์นับเป็นคีย์แมน (Key man) สำคัญในการขับเคลื่อนสหกรณ์ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ฉะนั้นองค์ความรู้ในการลงทุนและการตัดสินใจเพื่อการลงทุนจึงมีความสำคัญอย่างมาก
ด้าน พลโท ดร. วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) กล่าวถึงการพัฒนาสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ว่า ด้วยความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์กรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ 1 ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ในการจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ด้านการลงทุนให้แก่บุคลากร ให้สามารถนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการออมที่มีอยู่ และมีความรู้ด้านการลงทุนที่ถูกวิธีเพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้ ทั้งในด้านของวิชาการ การเงินและข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยภาพรวมของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ มีอยู่ 1,392 สหกรณ์ สหกรณ์ซึ่งเป็นสมาชิก ชสอ. อยู่ที่ 1,079 สหกรณ์หรือคิดเป็น 77.51% ขณะที่สหกรณ์ที่ไม่เป็นสมาชิก ชสอ. มีอยู่ 313 สหกรณ์หรือคิดเป็น 22.49%
ทั้งนี้ ประธานกรรมการ ชสอ. ยังกล่าวถึงนโยบายการบริหารงานด้วยว่า โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาระบบพัฒนาบุคลากร ด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ และเป็นหลักสูตรตรงต่อความต้องการของสมาชิก รวมทั้งสหกรณ์ที่มีขนาดเล็กได้รับการฝึกอบรมอย่างทั่วถึง โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ การปฏิรูปให้ ชสอ. เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง (High Performance Organization : HP)
นางอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวด้วยว่า ภาพรวมของตลาดการเงินและตลาดตราสารหนี้ไทยในปัจจุบัน เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เนื่องเพราะตราสารหนี้ เช่น ธนบัตร หุ้นกู้ ตั๋วเงินคลัง เป็นส่วนหนึ่งของตลาดการเงิน ที่มีการขยายมูลค่าตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มูลค่าตลาดตราสารหนี้อยู่ที่ 10.85 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมานั้นตลาดตราสารนี้มีเพียง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) โดยเป็นผลมาจากภาครัฐและภาคเอกชนได้นำเงินมาจากการกู้ธนาคารเป็นหลัก หลังจากนั้นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมูลค่าตลาดตราสารหนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 77% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเงิน ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกทั้งจากพัฒนาการของตลาดตราสารหนี้ในประเทศ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำให้รัฐบาล สามารถลดการพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศและช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย