สำหรับในปีนี้ ไม่มีองค์กรใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาให้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) และมีจำนวนองค์กรที่ผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัล"การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC)" ประจำปี 2559 ทั้งสิ้น 7 องค์กร ดังต่อไปนี้
1.กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
2.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
3.บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด
4.บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
5.บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด
6.โรงไฟฟ้าน้ำพอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
7.โรงไฟฟ้าบางปะกง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้กล่าวถึงความสำคัญของรางวัลคุณภาพแห่งชาติกับการผลักดันประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยกระบวนการพัฒนาด้านนวัตกรรม "นวัตกรรมและความทันสมัยทางธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งกระบวนการในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และการบริการในรูปแบบใหม่ ๆ กำลังได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดรับกับกระแสแห่งความโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลในยุคอุตสาหกรรม 4.0 การบริหารจัดการนวัตกรรมในองค์กรจึงมีความสำคัญอย่างมากในองค์กรยุคใหม่ และเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติได้บรรจุเรื่อง การจัดการนวัตกรรมเข้าไปในค่านิยมหลักตั้งแต่เริ่มแรก การผลักดันนวัตกรรมให้เกิดในองค์กรนั้น จะต้องบริหารจัดการทั้งมิติในเรื่องคน เรื่องวัฒนธรรมองค์กร และกระบวนการ ทั้งสามมิตินี้ต้องประสานจนเป็นเนื้อเดียวกันซึ่งทั้งหมดนี้ได้ถูกเขียนไว้ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ"
ด้านกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลากล่าวถึงเป้าหมายของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ รวมทั้งประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ "การที่องค์กรได้รับรางวัลในครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันอันสำคัญ ให้ผู้บริหารและบุคลากรในองค์กร พัฒนาต่อไปสู่เป้าหมาย คือการเป็นผู้นำทางธุรกิจ จากการดำเนินการและผลประกอบการที่เทียบเคียงกับองค์กรในระดับโลก และได้รับการยอมรับในฐานะ World Class Organization คุณค่าที่สำคัญของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยังอยู่ที่ การแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีปฏิบัติขององค์กรที่ได้รับรางวัล เพื่อให้องค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาในภาพรวม และสามารถเป็นทั้งแรงบันดาลใจที่สำคัญ และเป็นตัวอย่างวิธีการปฏิบัติที่ดี ให้กับองค์กรอื่นๆ ได้เรียนรู้อีกมากมาย และยังเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการขยายผลไปสู่องค์กรในภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ ให้ยอมรับเกณฑ์รางวัลนี้ไปใช้ในองค์กร"
นายสุวรรณ เหรียญเสาวภาคย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ "นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรของไทย ให้มีวิธีปฏิบัติ และผลการดำเนินการที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ทำหน้าที่สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นผู้บริหารจัดการ และดำเนินการผลักดันให้องค์กรต่างๆ นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วนของธุรกิจในประเทศไทย เพื่อพัฒนาองค์กรไทยสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล"
อีกทั้งยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ของโลก โดยอ้างอิงจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) "เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยังมีการปรับเปลี่ยนทุก 2 ปี ทำให้องค์กรรู้ว่าต้องเตรียมองค์กร เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดบ้าง ผู้บริหารขององค์กร จึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทาง ขององค์กร ให้ทันกับสถานการณ์ทางธุรกิจอยู่เสมอ อาทิ ทิศทางของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร เกณฑ์ได้มี การกล่าวถึงและปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดรับกับการนำประเทศไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit