เสียงสะท้อนของประชาชน กรณีรถแท็กซี่และรถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi)”

07 Apr 2017
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "เสียงสะท้อนของประชาชน กรณีรถแท็กซี่และรถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi)" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 25 มีนาคม 2560 จากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้บริการรถแท็กซี่และรถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ปัญหาที่พบเจอ และข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาคุณภาพ การให้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามจังหวัด จากนั้นในแต่ละจังหวัดสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบ อย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่า ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเคยใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไปของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ78.08 ระบุว่า เคยใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป ขณะที่ ร้อยละ 21.92 ระบุว่า ไม่เคยใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป
เสียงสะท้อนของประชาชน กรณีรถแท็กซี่และรถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi)”

ทั้งนี้ ปัญหาที่ประชาชนเคยพบเจอ เมื่อใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป พบว่า ประชาชนที่เคยใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไปส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.51 ระบุว่า เคยพบปัญหาการใช้บริการ ขณะที่ ร้อยละ 24.49 ระบุว่า ไม่เคยพบปัญหาการใช้บริการ โดยในจำนวนผู้ที่เคยพบเจอปัญหานั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.50 ระบุว่า เป็นการปฏิเสธผู้โดยสาร จากการสอบถามเชิงลึก เกี่ยวกับจำนวนที่ถูกรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไปปฏิเสธโดยประมาณต่อการเรียกใช้บริการ 1 ครั้ง พบว่า ถูกปฏิเสธเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.5 คัน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 2.2 คัน) น้อยที่สุด 1 คัน และถูกปฏิเสธมากที่สุด 20 คัน

ปัญหาการใช้บริการรถแท็กซี่ที่พบเจอ รองลงมา ร้อยละ 29.99 ระบุว่า เป็นปัญหาสภาพรถเก่า ไม่สะอาด แอร์ไม่เย็น มีกลิ่นเหม็น ร้อยละ 28.09 ระบุว่า ขับอ้อมเส้นทาง ร้อยละ 25.64 ระบุว่า ผู้ขับขี่พูดจาไม่สุภาพ มีกิริยาที่ไม่ดีกับผู้โดยสารหรือผู้ใช้รถใช้ถนน ร้อยละ 21.85 ระบุว่า เป็นการขับรถเร็ว เบรคกะทันหัน ฝ่าไฟแดง จอดรถในที่ห้ามจอด ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ฯลฯ ร้อยละ 20.90 ระบุว่า เป็นการโกง มิตเตอร์ คิดราคาแพงเกินกว่าที่กำหนด ร้อยละ 16.15 ระบุว่า ผู้ขับขี่ไม่ชำนาญเส้นทาง ร้อยละ 14.65 ระบุว่า ผู้ขับขี่ไม่ทอนเงินค่าโดยสาร ร้อยละ 9.09 ระบุว่า ผู้ขับขี่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ เข้าข่ายการก่ออาชญากรรม ร้อยละ 6.38 ระบุว่า ผู้ขับขี่ไล่ผู้โดยสารลงกลางทาง และร้อยละ 4.61 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ถามเรื่องส่วนตัว, เปิดวิทยุเสียงดัง, พูดเรื่องการเมือง, ไม่กดมิตเตอร์, ผู้ขับขี่ต้องการราคาเหมาจ่าย, รูปบัตรประจำตัวผู้ขับขี่ไม่ตรงกัน, และกินอาหารบนรถ

สำหรับข้อเสนอแนะของประชาชน เกี่ยวกับการปรับปรุงการให้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.51 ระบุว่า ควรมีการคัดกรอง การอบรม การมอบใบอนุญาตที่เป็นลักษณะวิชาชีพเฉพาะกลุ่ม อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ใครก็สามารถขับรถแท็กซี่ได้ รองลงมา ร้อยละ 43.03 ระบุว่า ควรมีหน่วยงานสุ่มตรวจคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่อยู่เป็นประจำ ร้อยละ 33.91 ระบุว่า ควรบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่เคร่งครัด กับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่กระทำผิด ร้อยละ 28.28 ระบุว่า ควรแก้ไขเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ให้จริงจัง ร้อยละ 24.59 ระบุว่า ควรเพิ่มบทลงโทษผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่กระทำผิด ร้อยละ 23.98 ระบุว่า ควรกำหนดราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถแท็กซี่และผู้โดยสาร ร้อยละ 3.69 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ ผู้ขับขี่ควรปรับปรุงตนเองในการให้บริการ เช่น ไม่ควรปฏิเสธรับผู้โดยสาร, การแต่งกาย, การรักษาความสะอาด, และหน่วยงานควรจำกัดปริมาณรถแท็กซี่ รวมไปถึงการจัดพื้นที่ หรือโซนนิ่งโดยแบ่งพื้นที่ ในการให้บริการ และการแบ่งระดับรถที่ให้บริการ, ควรปรับปรุงด้วยการนำแอพพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่มาใช้ และให้เป็นไปมาตรฐานเดียวกัน และร้อยละ 10.66 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงการรู้จักและการเคยใช้บริการ รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.00 ระบุว่า ไม่รู้จัก และไม่เคยใช้บริการ รองลงมา ร้อยละ 41.20 ระบุว่า รู้จัก แต่ไม่เคยใช้บริการ และร้อยละ 12.80 ระบุว่า รู้จักและเคยใช้บริการ

สำหรับข้อกังวลหรือปัญหาที่ประชาชนเคยพบเจอ เกี่ยวกับการให้บริการ รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) พบว่า ประชาชนที่รู้จักรถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.67 ระบุว่า มีข้อกังวลหรือปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการ รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ขณะที่ ร้อยละ 45.33 ระบุว่า ไม่มีข้อกังวลหรือปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการ รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ซึ่งในจำนวนผู้ที่มีข้อกังวลหรือปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 20.59 ระบุว่า เป็นความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะผู้ขับขี่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ และการอบรม และไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมายข้อบังคับของกรมการขนส่งทางบก รองลงมา ร้อยละ 10.52 ระบุว่า ผู้ขับไม่ชำนาญเส้นทาง ร้อยละ 9.63 ระบุว่า ราคาแพงกว่ารถแท็กซี่ปกติทั่วไป ร้อยละ 9.33 ระบุว่า บางครั้งเรียกรถแล้วไม่มารับหรือใช้เวลานานในการเดินทางมารับผู้โดยสาร

ร้อยละ 9.19 ระบุว่า เป็นการรับผิดชอบของบริษัท Uber หากกรณีเกิดความเสียหาย ร้อยละ 8.89 ระบุว่า รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) มีให้บริการจำนวนน้อยกว่ารถแท็กซี่ปกติทั่วไป ร้อยละ 8.00 ระบุว่า เป็นการแย่งลูกค้า หรือมีเกิดข้อกรณีพิพาทกันกับรถแท็กซี่ปกติทั่วไป แท็กซี่ปกติทั่วไปเสียลูกค้าและรายได้ ร้อยละ 7.70 ระบุว่า เป็นความปลอดภัยในการชำระเงินค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิต ร้อยละ 0.44 อื่น ๆ ได้แก่ สภาพของรถยนต์ที่นำมาใช้, และมาตรฐานในการให้บริการ และร้อยละ 11.11 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนหากต้องเลือกใช้บริการระหว่าง "รถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป แต่ต้องเสี่ยงกับปัญหาคุณภาพการให้บริการ" กับ "รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ มีการบริการที่ดี แต่มีราคาค่าโดยสารที่แพงกว่า" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.81 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความเร่งด่วน ค่าใช้จ่ายและความจำเป็น รองลงมา ร้อยละ 30.07 ระบุว่า จะเลือกใช้รถแท็กซี่ปกติทั่วไปแบบเดิม และยอมเสี่ยงกับปัญหาคุณภาพการให้บริการ ร้อยละ 25.19 ระบุว่า จะเลือกใช้รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ มีการบริการที่ดี แต่ มีราคาค่าโดยสารที่แพงกว่า และ ร้อยละ 1.93 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 37.28 พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 14.48 พักอาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ร้อยละ 18.24 พักอาศัยอยู่ในจังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 14.40 พักอาศัยอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ร้อยละ 8.64 พักอาศัยอยู่ในจังหวัดนครปฐม และร้อยละ 6.96 พักอาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ตัวอย่าง ร้อยละ 50.80 เป็นเพศชาย ร้อยละ 49.12 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 5.44 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 14.56 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.44 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.68 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 21.76 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 94.80 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.24 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.92 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 24.32 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 69.76 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.24 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 19.20 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 24.08 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.20 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 37.92 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.80 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 11.04 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 21.20 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.48 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 2.56 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 12.32 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 22.40 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/ว่างงาน ร้อยละ 3.20 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 21.68 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 9.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 14.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 15.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.32 ไม่ระบุรายได้