WHO หนุนไทยปฏิรูปการสอน ผลิตแพทย์-พยาบาลโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มฟล.พร้อมขับเคลื่อน หวังยกระดับสุขภาวะ ปชช.ภาคเหนือ

03 Apr 2017
ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำเทศไทย สนับสนุนประเทศไทยเดินหน้าปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์-พยาบาล และกลุ่มสหวิชาชีพสุขภาพ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ หรือ "ทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง" ด้านสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. จับมือ ศสช. และภาคีเครือข่ายเตรียมขับเคลื่อน หวังเพิ่มคุณลักษณะพึงประสงค์แก่นักศึกษาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข เพื่อยกระดับสุขภาวะประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือ
WHO หนุนไทยปฏิรูปการสอน ผลิตแพทย์-พยาบาลโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มฟล.พร้อมขับเคลื่อน หวังยกระดับสุขภาวะ ปชช.ภาคเหนือ

นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำเทศไทย (WHO) กล่าวในงานสัมมนา "เชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21" ภายใต้ โครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 จัดโดย สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ มฟล. จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า องค์กรอนามัยโลกขอชื่นชมประเทศไทยในการเป็นผู้นำในเรื่องสุขภาพโลก โดยเฉพาะการที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยมีแนวทางการนำการเรียนการสอนบุคลากรด้านสุขภาพในรูปแบบใหม่ที่เน้นใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือ "ทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง" (Transformative Learning) เพื่อผลิตบุคลากรด้านสุขภาพ โดยต้องมีการปรับหลักสูตรให้ตอบรับความต้องการของสังคม และให้นักศึกษาสามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วย เพราะจะทำให้นักศึกษาแพทย์มีความรู้ความเข้าใจชุมชนและสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานได้

"การปฏิรูประบบสาธารณสุขไม่ใช่แค่การเน้นการเพิ่มจำนวนบุคคลากรเท่านั้น แต่ต้องสร้างบุคคลากรที่เข้าใจเรื่องชุมชนด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมีความก้าวหน้ากว่าหลายๆประเทศ เพราะมีการวางระบบต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาเพื่อเดินหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยองค์การอนามัยโลกจะให้การสนับสนุนทุกอย่าง และจะเป็นตัวกลางในการนำประสบการณ์ของประเทศไทยไปแลกเปลี่ยนให้ประเทศอื่นๆ รับทราบ รวมถึงการนำประสบการณ์จากต่างประเทศเพื่อให้ประเทศไทยปรับใช้ เพื่อทำให้การพัฒนาบุคคลากรสุขภาพของประเทศไทยทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นด้วย" ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำเทศไทย กล่าว

ด้าน ศ.เกียรติคุณ พลโท นพ.นพดล วรอุไร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. กล่าวว่า แนวทางต่อเรื่องนี้ของสำนักแพทยศาสตร์ มฟล. คือการเปิดศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยที่สามารถรับผู้ป่วยได้ 400 เตียง ซึ่งจะเปิดให้บริการในช่วง ปลายปี 2560 และจะขยายเป็น 800 เตียงในอนาคต โดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2-3 และกลุ่มสหวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องสามารถเรียนที่นี่ได้ทั้งหมด แต่ทางสำนักแพทยศาสตร์ มฟล. ยังตั้งความหวังไกลมากกว่านี้ โดยหวังให้เกิดความร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนในสังกัด สธ.ใน จ.เชียงราย รวมทั้งร่วมมือกับโรงพยาบาลในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ให้มาเป็นเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย นักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาและสัมผัสปัญหาสุขภาพประชาชนภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ซึ่งถ้าผู้ใหญ่จาก สธ.สนับสนุนเรื่องนี้ และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) อย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้การดำเนินงานต่างๆ ดีขึ้น

"จังหวัดเชียงรายมีลักษณะพิเศษ คือมีกลุ่มชาติพันธุ์ มีคนต่างชาติ ข้ามพรมแดนเข้ามาและนำโรคที่น่าสนใจและเป็นปัญหาเข้ามา ซึ่งระบาดข้ามมาจากฝั่งพม่า ฝั่งลาว คนกลุ่มนี้จะมารักษาตัวที่ อ.เชียงแสน และ อ.แม่สาย ในฝั่งไทย โรคเหล่านี้บางโรคไม่เคยมีในประเทศไทย กลุ่มนักศึกษาแพทย์ของเราจะได้เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้น ส่วนชุมชนหรือชาติพันธุ์ต่างๆ ทางสำนักแพทยศาสตร์จะมีบัณฑิตแพทย์จบเป็นรุ่นแรกในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งทางสำนักแพทยศาสตร์จะชักชวนให้มาทำงานต่อ ทำให้เขามีโอกาสย้อนไปเยี่ยมชุมชนที่เขาเคยไปสมัยยังเป็นนักศึกษา และติดตามความก้าวหน้าในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนหรือชาติพันธุ์ต่างๆ ได้โดยแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การทำงานของ ศสช. จึงคิดว่าหากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. ร่วมมือกับ ศสช. จะทำให้การผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อชุมชนเป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น" คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. ระบุ

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพตามแนวคิดทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง จะเป็นตัวเชื่อมในการสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ที่จะกลายเป็นกลไลช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ครบทุกองค์ประกอบด้านสุขภาพได้ในอนาคต ซึ่ง สธ.วางเป้า สร้างคลินิกหมอครอบครัวให้ครบ 6,500 ทีม ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะพลิกโฉมระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบได้กับการวางรากฐานการป้องกันการเจ็บป่วยในลักษณะ Gatekeeper ที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพของตัวเองกันมาก ผ่านคำแนะนำและการตรวจเบื้องต้นจากบุคลากรด้านสุขภาพของทีมคลินิกหมอครอบครัว เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อป้องกันสุขภาพจากการเจ็บป่วย ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยมีสาเหตุจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงการที่ประชาชนรู้ไม่จริง รู้ไม่ถูก ที่ส่งผลต่อการป้องกัน นอกจากนี้การขับเคลื่อนในข้างต้น ยังช่วยให้บุคลากรของแต่ละสาขาได้มาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ความเข้าใจที่มีต่อพื้นที่ และการร่วมแรงร่วมใจเพื่อไปสู่เป้าหมายการสร้างสุขภาวะให้ประชาชน

"ในฐานะผู้ใช้ผลผลิตบุคลากรด้านสุขภาพเราได้วางคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในอีก 20 ปีข้างหน้าไว้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตอย่าง มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานใน สธ.เอง ที่ต้องตามเทรนด์ให้ทันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้านั้น ประเทศไทยต้องการแพทย์ พยาบาล และกลุ่มสหวิชาชีพแบบใด การปฏิรูปเพื่อการดำเนินงานสอดคล้องไปด้วยกัน" รองปลัด สธ. กล่าว

ขณะที่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ ศสช. กล่าวถึงเหตุผลที่สังคมต้องเร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพ จากการเรียนในห้องเรียนหรือเรียนจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโรงพยาบาลมาเป็นการเรียนรู้จากชุมชน หรือ ทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ว่า เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ความเจ็บป่วยของประชาชนประมาณร้อยละ 90 เป็นปัญหาสุขภาพในชุมชนที่สามารถหายเองได้ ไม่ใช่โรคซับซ้อน ที่ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในการรักษา แต่การเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ในปัจจุบันไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงชุมชน การเรียนรู้ที่ผ่านมาเป็นการเรียนรู้แบบเป็นส่วนๆ เฉพาะโรค เฉพาะอวัยวะ ไม่ใช่การเรียนรู้แบบองค์รวมถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ส่วนกลุ่มประเทศพัฒนาไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือในยุโรป แพทย์รักษาโรคทั่วไปกลับมีบทบาทและเป็นที่ยอมรับในสังคมมากกว่า เพราะจะมีความใกล้ชิดสังคมเข้าใจวัฒนธรรมแต่ละท้องที่ ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสุขภาพของคนในชุมชนแต่ละคน มีการติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง.

WHO หนุนไทยปฏิรูปการสอน ผลิตแพทย์-พยาบาลโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มฟล.พร้อมขับเคลื่อน หวังยกระดับสุขภาวะ ปชช.ภาคเหนือ WHO หนุนไทยปฏิรูปการสอน ผลิตแพทย์-พยาบาลโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มฟล.พร้อมขับเคลื่อน หวังยกระดับสุขภาวะ ปชช.ภาคเหนือ