ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิกซ์
องค์กรต่างๆ กำลังเผชิญความท้าทายจากสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการของพันธมิตร หรือแม้แต่ความต้องการของพนักงานขององค์กรเองที่ล้วนมีแนวทางการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลที่เป็นโลกของการเชื่อมต่อกันอยู่ตลอดเวลา และจะยังเป็นเช่นนี้และเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนมีความต้องการมากขึ้นและต้องการการตอบสนองอย่างทันท่วงที ความต้องการต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเช่นกัน องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้ตอบโจทย์ความต้องการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตามการปรับระบบการทำงานทั้งหมดก็ไม่ง่ายเสมอไปและอาจทำได้ไม่เร็วนัก เมื่อเร็วๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลจากการประชุมสามัญประจำปี 2560 ว่าผู้ประกอบการไทยที่พร้อมเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 มีประมาณ 30% เท่านั้น อีก 70% ติดปัญหาเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการจัดระบบ นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจความพร้อมในการใช้คลาวด์ (CRI 2016) โดย Asia Cloud Computing Association (ACCA) ระบุว่าความพร้อมของไทยลดลงจากลำดับที่ 9 จากการสำรวจคราวที่แล้ว เป็นลำดับที่ 10 (ในจำนวน 14 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่ทำการสำรวจ) แสดงให้เห็นถึงความลังเลของผู้บริหารและองค์กรต่างๆ ในการใช้คลาวด์ ซึ่งอาจมาจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล
ผู้บริหารสูงสุด หรือแม้แต่ผู้บริหารด้านไอทีที่ยังยึดติดกับโครงสร้างพื้นฐานแบบ 3-tier ที่ซับซ้อนแบบเดิม ไม่มีความมั่นใจที่จะโยกย้ายข้อมูลหรือระบบต่างๆ ไปสู่ระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ได้มากกว่าและใช้งานได้ง่ายขึ้น อาจเป็นเพราะมีความเชื่อว่าระบบเก่าถึงจะซับซ้อนแต่ก็มาพร้อมกับความปลอดภัยของงานที่รับผิดชอบอยู่ การลงทุนด้านไอทีจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการนวัตกรรมต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรและสร้างความเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ผมเชื่อว่าองค์กรส่วนใหญ่เล็งเห็นประโยชน์จากนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนไอทีได้อย่างชัดเจน และต่างคำนึงถึงจุดเปลี่ยนของโครงสร้างพื้นฐานแบบ 3-tier ว่าถึงจุดที่ต้องให้ความสำคัญกับไอทีที่สร้างผลเติบโตให้บริษัท แทนที่จะต้องแบกรับระบบที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้การลงทุนในเทคโนโลยีรุ่นเก่าในอนาคตมีผลในทางลบในที่สุด
สภาพแวดล้อมแบบ 3-tier เป็นสภาพแวดล้อมแบบเก่าที่ลูกค้าไม่เพียงแต่จะต้องซื้อสตอเรจจำนวนมากเท่านั้น แต่มักต้องลงทุนกับระบบเวอร์ชวลไลเซชั่น และการผูกโยงกับซอฟต์แวร์ที่มากับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมักไม่ได้ใช้และกลายเป็นของที่ขึ้นหิ้งในที่สุด ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบแชร์สตอเรจ (SANs) รวมถึงออล-แฟลชอาเรย์ มีความท้าทายกับการลงทุนหลายประการ และส่วนใหญ่เป็นความท้าทายเกี่ยวกับข้อจำกัดในการเพิ่มขยายในอนาคต ในโครงสร้างพื้นฐานรุ่นเก่าที่เป็นแบบ 3-tier ซึ่งประกอบด้วย สตอเรจที่เป็นศูนย์กลางเก็บข้อมูล + สตอเรจเน็ตเวิร์ค + ระบบประมวลผล ทำให้การเพิ่มแชร์สตอเรจกลายเป็นการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานแบบไซโล (silo) และมีความยุ่งยากในการโอนย้ายข้อมูล ปัจจุบันเทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชั่นได้รับความนิยมในการนำไปใช้บริหารจัดการทรัพยากรการประมวลผลอย่างมาก และกำลังนำไปใช้กับสตอเรจและระบบเครือข่าย ในปี 2560 ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีต่างๆ จะเติบโตสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว และจะเป็นปีแห่งดาต้าเซ็นเตอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ (Software-defined Data Center: SDDC) อย่างแท้จริง
โครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวิร์จ และแพลตฟอร์มเอ็นเตอร์ไพรซ์คลาวด์ของนูทานิกซ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแบบ 3-tier ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มขยายและอัพเกรดระบบในสภาพแวดล้อมของนูทานิกซ์หรือแม้แต่ถอดระบบเก่าออกได้อย่างง่ายดายด้วยการคลิกเพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นการ "ปฏิวัติ" แนวทางการจัดการและปรับขยายโครงสร้างพื้นฐานให้กับระบบสารสนเทศ ขจัดความยุ่งยากของโครงสร้างพื้นฐานแบบไซโลในอดีต นูทานิกซ์สร้างแพลตฟอร์มที่ทำงานคล้ายคลาวด์ที่เรียบง่ายและคล่องตัวแต่ยังคงควบคุมได้ ช่วยขจัดความซับซ้อนให้กับโครงสร้างพื้นฐาน, การบริหารจัดการ, การอัพเกรด และการใช้ระบบเวอร์ชวลไลเซชั่น
โครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวิร์จเป็นเทคโนโลยีที่มากกว่าการรวมหน่วยประมวลผล, สตอเรจ และเน็ตเวิร์คไว้ด้วยกัน สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือสามารถปรับขยายตามการเติบโตของธุรกิจได้ง่ายและรวดเร็วกว่า มีเสถียรภาพที่สูงกว่า และมีความคล่องตัวเฉกเช่นเดียวกันกับบริการที่ได้รับจากพับบลิค คลาวด์ ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ นี้ อยู่ในรูปแบบที่ลูกค้าสามารถนำไปสร้างคลาวด์ในองค์กรใช้ได้เองได้อย่างลงตัว ความสามารถเหล่านี้ทำให้ไฮเปอร์คอนเวิร์จได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นเทคโนโลยีที่ขจัดความกังวลและตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในการใช้งาน
นอกจากนี้การ "จ่ายเท่าที่ใช้ : pay-as-you-grow" และเครื่องมือวิเคราะห์คาดการณ์ความต้องการด้านไอทีจะช่วยให้องค์กรหลีกเลี่ยงการซื้อเกินความจำเป็นที่ต้องใช้ในปัจจุบัน การที่สามารถซื้อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ และจำนวนโหนดที่ลดลงเมื่อจะขยายธุรกิจช่วยประหยัดงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจด้านอื่นๆ ขององค์กร การวางแผน และประเมินความต้องการในอนาคต (Capacity Forecasting) ของนูทานิกซ์ ช่วยให้ผู้บริหารสามารถประเมินและวางแผนความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ทำให้วางงบประมาณได้ง่าย และมองเห็นต้นทุนด้านไอทีที่เกิดจากการใช้งานของแผนกต่างๆ ภายในองค์กรทั้งแบบ Chargeback หรือระบบ Showback ได้อย่างเหมาะสมมากกว่าการซื้อคราวละมากๆ
หากองค์กรยังลังเลว่าเทคโนโลยีไหนเหมาะกับตน ระหว่างโครงสร้างพื้นฐานแบบ 3-tier และแบบไฮเปอร์คอนเวิร์จ ผมมีตัวอย่างของศูนย์ข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งดำเนินงานโดย Amazon, Facebook, Google และอื่นๆ ที่ล้วนทำงานบนโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวิร์จมากกว่าแบบ 3-tier
ความกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูล, ความซับซ้อนของการตั้งค่าและการใช้งาน, ค่าใช้จ่ายสูง สามารถจัดการให้หมดไปได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวิร์จและเอ็นเตอร์ไพรซ์คลาวด์แพลตฟอร์มของนูทานิกซ์ ซึ่งมีทั้งแพลตฟอร์มสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ และองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้น ทั้งยังรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต
ความคาดหวังและกลยุทธ์ของผู้บริหารองค์กร และผู้บริหารไอทีจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปไอทีองค์กรให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญให้องค์กรยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงในยุคที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นในพริบตาเดียว เทคโนโลยีที่พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่โลกแห่งการทำธุรกิจในระบบดิจิทัลนั้นมีอยู่แล้ว ถึงเวลาที่ผู้บริหารต้องกล้าตัดสินใจรื้อโครงสร้างพื้นฐานไอทีขององค์กร ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยน และเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit