ภายใต้แนวคิด "ก้าวกล้า...พ้นความรุนแรง" โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ภาคีเครือข่ายด้านสตรีและครอบครัว หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 2,500 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซนทรัลพลาซ่า จังหวัดอุดรธานี
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ภายหลัง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และ จัดทำข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัวกับหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสนับสนุน ให้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินงานดังกล่าว
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดย สค. ได้กำหนดจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2560 จำนวน 2 ครั้ง ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ 1) จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา และ 2) จังหวัดอุดรธานี ในวันนี้ (วันที่ 22 มีนาคม 2560) เพื่อสร้างกระแสสังคม ถ่ายทอดแนวคิดต่างๆ ในการส่งเสริมให้ประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนกล้าที่จะเริ่มที่ตนเองในการปรับทัศนคติเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ที่ต้องใส่ใจเคารพความคิดเห็น ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นแนวร่วมที่ "ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำ ความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว" ทุกรูปแบบ ซึ่งการจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงดังกล่าว มีแนวคิดหลัก ที่สอดคล้องกับการรณรงค์ขององค์การสหประชาชาติในเรื่องของความกล้าหาญ (The Brave are not violent) จึงได้กำหนดแนวคิด การจัดงานภายใต้แนวคิด "ก้าวกล้า...พ้นความรุนแรง" ด้วยการก้าวออกมาด้วยความกล้าหาญ ก้าวออกมาต่อสู้เผชิญหน้ากับปัญหาความรุนแรงกับ 9 แนวคิด 9 พฤติกรรม เพื่อให้ครอบครัวไทยหลุดพ้นจากความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแนวคิด "ก้าวกล้า...พ้นความรุนแรง" ประกอบด้วย ก้าวแรก กล้าที่ จะไม่นิ่งเฉย ไม่นิ่งเฉยต่อการพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว พบเห็นเหตุการณ์ โทรแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ก้าวที่สอง กล้ายอมรับความแตกต่าง มองความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ คิดเชิงบวก ไม่คิดชิงชัง ไม่คิดแตกแยก ก้าวที่สาม กล้าเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของหญิงหรือชาย ของเด็กหรือผู้ใหญ่ หากตั้งบนพื้นฐานของการให้ความเคารพต่อกัน ย่อมทำให้ห่างไกลจากความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ก้าวที่สี่ กล้าพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ พูดและรับฟังกันด้วยเหตุและผล เอาใจเขามาใส่ใจเรา ก้าวที่ห้า กล้ายกย่องชมเชยและไม่ทำร้ายด้วยคำพูด แม้ว่า จะเป็นแค่เพียงเสียงที่ล่องลอยในอากาศ แต่สามารถส่งผลกระทบเข้าไปในจิตใจของคนได้ ความรุนแรงทางวาจามักเป็นต้นทางนำไปสู่ความรุนแรงด้านอื่นๆ ก้าวที่หก กล้าที่จะไม่ใช้กำลังบังคับ ความกล้าหาญไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยการใช้กำลังบีบบังคับคนที่ดี แต่การใช้กำลังไม่ได้ เป็นผู้กล้าที่แท้จริง ก้าวที่เจ็ด กล้าปฏิเสธและก้าวออกจากความรุนแรง เป็นก้าวที่ผู้ถูกกระทำต้องใช้พลังใจ อย่างยิ่ง ที่จะลุกขึ้นและไม่ยอมรับให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวอีกต่อไป ก้าวที่แปด กล้าแลกเปลี่ยนบทบาทในบ้าน โดยไม่ยึดติดกับความเชื่อ มายาคติที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องทำสิ่งนั้น ผู้ชายต้องทำสิ่งนี้ ชายหรือหญิงสามารถช่วยกันแบ่งเบาภาระทั้งในและนอกบ้านได้ เพราะปัจจุบัน เรายอมรับกันด้วยความสามารถโดยไม่คำนึงถึงเพศ และ ก้าวที่เก้า กล้าที่จะชนะไปด้วยกัน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ให้เป็นผู้แพ้ เราทุกคนจะนำชัยชนะมาสู่ครอบครัวของเราด้วยกัน"สำหรับการจัดงานรณรงค์ในวันนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย ขบวนรถรณรงค์ การเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ
"ก้าวกล้า...สู่หนทางยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัว" นิทรรศการ สินค้า OTOP เกมการละเล่น และการแสดงดนตรี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ทั้งความรู้พร้อมกับสาระบันเทิงให้สำหรับประชาชน ที่เข้าร่วมงาน อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นการกระทำ ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว สามารถแจ้งที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 บริการ 24 ชั่วโมง" พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit