นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง ที่นิยมใช้ในครัวเรือน แต่เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติไวไฟ จึงติดไฟอย่างรวดเร็ว หากใช้งานอย่างไม่ถูกวิธี จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการระเบิดและเพลิงไหม้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการใช้ก๊าซหุงต้มอย่างถูกวิธี ดังนี้ หมุนวาล์วที่หัวถังก๊าซไม่เกิน 2 รอบ แล้วจึงค่อยเปิดเตาแก๊ส ห้ามเปิดเตาแก๊สซ้ำติดต่อกันหลายๆ ครั้ง เพราะจะมีก๊าซสะสมจำนวนมาก หากมีประกายไฟในบริเวณดังกล่าว จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ไม่เปิดเตาแก๊สทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ดูแล เพราะหากเกิดการลุกไหม้ จะไม่สามารถแก้ไขหรือควบคุมสถานการณ์ได้ทันท่วงที หลังจาก ใช้งานเสร็จแล้ว ควรปิดเตาแก๊สก่อนแล้วจึงหมุนปิดวาล์วหัวถังก๊าซ วิธีปฏิบัติกรณีก๊าซรั่วไหลปิดวาล์วถังก๊าซและเตาแก๊สทันที พร้อมเปิดประตูหน้าต่างทุกบาน แล้วใช้พัด หรือไม้กวาดพัดระบายก๊าซออกสู่ภายนอก ตรวจสอบจุดรั่วไหลของก๊าซ โดยนำน้ำสบู่ มาลูบบริเวณวาล์วถังก๊าซ ข้อต่อแกนลูกบิด สายนำก๊าซ อุปกรณ์ปรับความดัน และท่อก๊าซ หากมีฟองอากาศแสดงว่ามีก๊าซรั่ว ให้แจ้งผู้ประกอบการมาเปลี่ยนถังก๊าซ ยกถังก๊าซไปยังที่โล่ง ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวกและห่างจากแหล่งชุมชน พร้อมพลิกถังก๊าซ ให้จุดที่รั่วอยู่ด้านบน เพื่อลดการรั่วไหลของก๊าซ ห้ามประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดประกายไฟ อาทิ สูบบุหรี่ จุดไม้ขีดไฟ จุดไฟแช็ก สตาร์ทเครื่องยนต์ ที่สำคัญ ห้ามจุดไม้ขีดไฟส่องหารอยรั่วของถังก๊าซ เพราะจะทำให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้ได้ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงไม่ใช้พัดลมช่วยในการระบายก๊าซออกสู่ภายนอก เพราะจะทำให้เกิดประกายไฟ และเพลิงไหม้ได้ วิธีปฏิบัติกรณีไฟไหม้ถังก๊าซ ปิดวาล์วถังก๊าซทันที หากไม่สามารถปิดได้ ให้ใช้น้ำราดหรือถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งฉีดพ่นไปยังจุดที่ไฟลุกไหม้ หากไม่มีถังดับเพลิงเคมี ให้ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำคลุมถังก๊าซ เพื่อดับไฟหรือควบคุมเพลิงในเบื้องต้น ทั้งนี้ การใช้งานก๊าซหุงต้ม รวมถึงการปฎิบัติกรณีก๊าซรั่วไหลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยงจากการระเบิดและเพลิงไหม้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit