การแพ้กลูเตนอาจก่อให้เกิดโรค ที่เรียกว่า โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โดยกลูเตนจะทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบ จากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง (Autoimmune Disease) โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสร้างแอนติบอดีเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อบุเซลล์ที่ลำไส้เล็ก (microvilli) ส่งผลให้เกิดการอักเสบและฝ่อในที่สุด ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การดูดซึมอาหาร เกลือแร่ วิตามิน ได้ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการ ท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง ปวดท้องที่เกิดจากก๊าซในกระเพาะอาหาร โลหิตจาง (Anemia) เนื่องจากดูดกลืนโฟลิค และวิตามิน B12 ได้ไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง กระดูกพรุน ระบบประสาททำงานผิดปกติ ผิวหนังเป็นผื่นบริเวณข้อศอกและเข่า ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ โกธรง่าย ซึมง่าย ในกรณีที่เกิดในเด็กจะทำให้เด็กโตช้า ตัวเล็กกว่าเด็กปกติทั่วไป ในผู้ป่วยโรคเซลิแอค บางรายจะไม่มีอาการเลยก็ได้แต่โรคดังกล่าวยังคงมีการทำลายลำไส้เล็กอย่างต่อเนื่อง
พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเซลิแอคประมาณ 1-2% ประชากรไทยพบโรคนี้ได้ 0.3% พบได้มากในคนผิวขาว เป็นได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากสุดในกลุ่มช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยหากมีพ่อ แม่ พี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสที่คนอื่นๆในครอบครัวจะเป็นโรคนี้ด้วยถึง10%
นางสาวณิศรา ตีระวัฒนพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ หรือ N Health เปิดเผยว่า การวินิจฉัยโรคเซลิแอคนั้นทำได้โดยตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อในลำไส้เล็กเพื่อตรวจยืนยัน เนื่องจากโรคเซลิแอค จะมีอาการใกล้เคียงกับโรคอื่นๆของระบบลำไส้ ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการ จึงมีคนไข้ที่อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลิแอค หากไม่ได้รับการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นก่อน โดยสามารถตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั่วไป
อย่างไรก็ตาม หากตรวจดูอาการของตนเองแล้วพบว่า มีอาการเข้าข่ายแพ้กลูเตน ควรปรึกษาแพทย์พร้อมประวัติการรักษาเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับช่องท้อง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ทั้งนี้หากตรวจแล้วพบว่าแพ้กลูเตน ก็จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งอาจจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคนมด้วย เพราะผู้ที่เป็นโรคเซลิแอค จำนวนมากมีอาการแพ้นม เนื่องจากไม่สามารถย่อยแลคโตสได้ นอกจากนี้ควรได้รับการแนะนำจากนักโภชนาการที่มีประสบการณ์โดยตรงในการจัดอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคโรคเซลิแอค และควรอ่านฉลากอย่างระมัดระวังก่อนที่จะบริโภคอาหารทุกชนิด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 7624000 หรือ email:[email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit