นายวีระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนร้อยละ 53.22 ทราบว่าประเทศไทยร่วมกับประเทศอาเซียน จัดงานพระพุทธศาสนามาฆบูชาอาเซียนใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก เชียงราย แม่ฮ่องสอน สระแก้ว สุรินทร์ มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย อุบลราชธานี นครพนม เลย ศรีสะเกษ ระนอง สงขลา และสตูล ระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้กิจกรรมที่ประชาชนอยากเข้าร่วมในงานมาฆบูชาของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด อันดับแรก ร้อยละ 35.60 คือกิจกรรมด้านศาสนพิธี ได้แก่ พิธีทำบุญตักบาตร พิธีเวียนเทียน พิธีเจริญพระพุทธมนต์และการแสดงพระธรรมเทศนา รองลงมาร้อยละ 34.35 เข้าร่วมกิจกรรมด้านส่งเสริมศีลธรรม อาทิ การลดละเลิกอบายมุข ประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย การแสดงตนเป็นพุทธมามะกะ เป็นต้น และร้อยละ 29.85 เข้าร่วมกิจกรรมด้านองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนา โดยเข้าชมนิทรรศการวันมาฆบูชา
นายวีระ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้การสำรวจยังได้สอบถามความเห็นประชาชนเกี่ยวกับการฟื้นฟูและเผยแพร่องค์ความรู้ "พระราชพิธีการถวายเทียนรุ่ง" (เทียนรุ่ง คือ เทียนจุดบูชาตั้งแต่หัวค่ำจนถึงรุ่งเช้า (ตลอดคืน) ซึ่งกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง จัดเตรียมถวายพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงเจิมและพระราชทานอุทิศไปจุดบูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆบูชาตามวัดสำคัญในกรุงเทพฯ ที่ได้บำเพ็ญสืบต่อกันมา ประชาชนร้อยละ 94.41 เห็นด้วยกับการฟื้นฟูและเผยแพร่องค์ความรู้ "พระราชพิธีการถวายเทียนรุ่ง" รวมทั้งมีเสนอแนะให้ฟื้นฟูประเพณีที่มีมาแต่โบราณ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและรับรู้ถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องโดยจัดกิจกรรมประเพณีทุกครั้งที่เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาและการแสดงพระธรรมเทศนาควรจัดแบบเต็มรูปแบบ
ขณะเดียวกันการสำรวจได้สอบถามประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมที่ต้องการให้ วธ.จัดขึ้นเป็นพิเศษใน วันมาฆบูชาพบว่า ร้อยละ 66.18 ทำบุญ ตักบาตรเพราะช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย และเสริมสร้างความสามัคคี รองลงมาร้อยละ 65.70 สวดมนต์ ฟังเทศน์ เวียนเทียน เป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมอันดี ร้อยละ 48.21 จัดนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนา ช่วยให้ความรู้แก่เด็ก ร้อยละ 45.03กิจกรรมสวดมนต์และแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ และร้อยละ 14.11 บวช/อุปสมบท เป็นการสืบสานพระพุทธศาสนา