นสพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ตระหนักถึงความปลอดภัยในอาหารของผู้บริโภค จึงมุ่งดำเนินโครงการปศุสัตว์ OK พร้อมๆกับการเข้าจับกุมโรงฆ่าเถื่อน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยปัจจุบันได้ให้การรับรองโครงการปศุสัตว์ OK รวม 2,805 แห่งทั่วประเทศ ทั้งการรับรองรายเดี่ยว ที่เขียงจำหน่ายเนื้อสัตว์ในตลาดสด หรือสถานที่จำหน่ายทั่วไป และการรับรองรายกลุ่ม ทั้งที่ห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ ร้านจำหน่ายในหมู่บ้าน เช่น ตู้หมูชุมชน ขณะเดียวกันยังดำเนินการปราบปรามจับกุมโรงฆ่าสัตว์เถื่อนแล้วรวม 281 แห่ง
"กรมปศุสัตว์เร่งพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัยในระดับสูง ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้ารับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปศุสัตว์OK ให้ได้ 4,000 แห่งภายในสิ้นปีนี้ พร้อมเร่งปราบปรามทั้งโรงฆ่าเถื่อนและผู้ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในโคและสุกรให้หมดไป เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าปศุสัตว์อย่างแท้จริง" น.สพ.สรวิศ กล่าว
"ปศุสัตว์ OK" เป็นโครงการที่มุ่งสร้างมาตรฐานการผลิตสัตว์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำด้วยการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มที่ได้มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ ซึ่งปีนี้กรมฯได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาฟาร์มเลี้ยงสัตว์เข้าสู่มาตรฐานจีเอพี (GAP) เพิ่มขึ้น ทั้งฟาร์มโคนม โคเนื้อ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เป็ดเนื้อ และสุกร เมื่อได้สัตว์ที่มีสุขภาพดีและผ่านการตรวจรับรองจากสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มว่าปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้างต่างๆ จึงจะนำเข้าเชือดชำแหละในโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งกรมฯได้เร่งส่งเสริมและพัฒนาโรงฆ่าสัตว์สู่มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งในเรื่องการตรวจสอบและให้การรับรอง GMP/HACCP ขณะเดียวกัน ยังมีการตรวจติดตามด้านสุขอนามัยโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาต (ฆจส. 2) กว่า 2,200 แห่งอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 (ฉบับใหม่) กำหนดให้ใบอนุญาตโรงฆ่าสัตว์มีอายุ 5 ปี หากโรงฆ่าสัตว์ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ปรับปรุงจะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต นอกจากนี้ กรมฯยังดำเนินการฝึกอบรมผู้ประกอบการและพนักงานตรวจโรคสัตว์อย่างต่อเนื่อง
"กรมปศุสัตว์มุ่งลดจำนวนโรงฆ่าสัตว์เถื่อน ควบคู่ไปกับการผลักดันโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่เข้าสู่มาตรฐาน GMP ภายในปี 2562 และเร่งส่งเสริมให้โรงฆ่าสัตว์ขนาดเล็กและกลาง ปรับปรุงและพัฒนาสู่มาตรฐานตามกฎหมายให้เรียบร้อยภายในปี 2564" โฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าว
สำหรับจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะซึ่งเป็นปลายน้ำก่อนไปสู่ผู้บริโภค ต้องได้รับสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังสารตกค้าง อาทิ สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมนเร่งโต และตรวจสอบจุลินทรีย์ที่จุดจำหน่ายเป็นประจำ จึงช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเมื่อเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองนี้ จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐาน สด สะอาด ปลอดภัย ปลอดสาร สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ทำดีมีมาตรฐานอยู่แล้ว ได้มีโอกาสขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยปีนี้จะมุ่งขยายการรับรองไปยังผู้ประกอบการร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ในตลาดสด และผู้จำหน่ายในลักษณะตู้หมูชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เก็บเนื้อสัตว์รอจำหน่ายในตู้แช่เย็นเพื่อคงคุณค่าผลิตภัณฑ์จนถึงมือผู้บริโภค.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit