กรมสุขภาพจิต เผย วัยรุ่นไทย กว่า 4 ใน 5 ยืนยัน วาเลนไทน์ ไม่มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ย้ำ สัมพันธ์พ่อแม่ลูก ภูมิคุ้มกันป้องกันเพศสัมพันธ์ก่อนวัย

10 Feb 2017
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2560) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่า แต่เดิมเคยเชื่อกันว่า วันวาเลนไทน์ เป็นวันเสียตัวนั้น ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป ซึ่ง กรมสุขภาพจิต โดย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้ทำโพลสำรวจพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 1,250 คน พบว่า วัยรุ่นทั้งชายและหญิง มากกว่า4 ใน 5 หรือประมาณ ร้อยละ 86 ยืนยันว่า วันวาเลนไทน์ไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก บางส่วนมองว่า วันวาเลนไทน์ เป็นวันที่ผู้ปกครองจะควบคุมอย่างใกล้ชิด บางความคิดเห็น มองว่า การมีเพศสัมพันธ์สามารถทำได้ทุกวัน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่เลือกใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิด ร้อยละ 89 และ ร้อยละ 75 คิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ ขณะที่ วัยรุ่นหญิง เกือบร้อยละ 90 ไม่ได้มีการคุมกำเนิดเองแต่เลือกให้ผู้ชายใช้ถุงยางอนามัย ส่วนหนึ่งไม่ใช้ยาคุมเพราะกลัวผู้ปกครองเห็น กลัวผลข้างเคียง ของยา เช่น อ้วน เป็นฝ้า และยังมีวัยรุ่นประมาณ ร้อยละ 1.5 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย มองว่า การคุมกำเนิดเป็นเรื่องไม่จำเป็น นอกจากนี้ ยังพบว่า เมื่อมีปัญหา วัยรุ่นเกินครึ่งเลือกใช้วิธีระบายกับเพื่อนมากที่สุด รองลงมา คือ พ่อแม่ และมีเพียง ร้อยละ 5 เลือกที่จะปรึกษาแฟน ตลอดจน พบว่า วัยรุ่นเกือบครึ่งเลือกที่จะอยู่คนเดียวเงียบๆ หรือทำกิจกรรม เช่น ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม หรือพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง ยังคงเป็นบุคคลสำคัญที่วัยรุ่นนึกถึงเมื่อมีปัญหา วันวาเลนไทน์จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการแสดงความรักในครอบครัว อาจใช้การพูดหรือเขียนบอกความรู้สึกรักและห่วงใย หรือเป็นกิจกรรมเล็กๆน้อยๆที่ทำร่วมกัน เช่น ทำอาหารที่ลูกชอบ ลูกอาจทำอะไรที่เป็นการดูแลพ่อแม่ตอบแทนหรือรับผิดชอบตนเองให้เป็นของขวัญขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ หรือเป็นโอกาสในการขอโทษและตั้งต้นใหม่ร่วมกัน สัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูกตั้งแต่วัยเด็กและท่าทีของพ่อแม่ที่รับฟัง เปิดใจ พยายามเข้าใจ ยอมรับความสนใจเรื่องเพศตามวัย ไม่ด่วนตำหนิหรือตัดสินลูก ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัวจะเป็นปัจจัยปกป้องที่สำคัญที่สุดในการป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงๆต่างๆในช่วงลูกวัยรุ่น ทั้งนี้ หากวัยรุ่นเครียด ไม่มีทางออก หรือต้องการปรึกษา สามารถโทรมาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะมีนักจิตวิทยาให้การปรึกษา ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว