นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ฉายภาพเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ว่า จะมีความแตกต่างไปจากปี 2559 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่จะกลับมาเร่งตัวขึ้น ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว ส่งผลต่อรูปแบบการใช้นโยบายเศรษฐกิจ โดยเปลี่ยนจากการใช้นโยบายการเงิน เช่นการทำ QE และดอกเบี้ยติดลบ ไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง โดยจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือ การชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดี Donald Trump และการครองเสียงข้างมากของพรรค Republican ในสภาคองเกรส ซึ่งจะทำให้เกิดการผลักดันมาตรการลดภาษี และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลกในปี 2560
ทั้งนี้ ในปี 2559 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ 3.0% นับว่าต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 (ค.ศ. 2008) เนื่องจากการลงทุนและการค้าโลกที่หดตัวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนการบริโภคไม่ได้ฟื้นตัวตามคาด เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ ส่วนในปี 2560 เราคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ 3.4% ตามการฟื้นตัวของการลงทุนและการค้าโลกประกอบกับแรงส่งจากนโยบายการคลัง โดยเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกในปี 2560 จะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากไม่ขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2557
ตลาดหุ้นเป็นดาวรุ่งปี 2560 แนะลงทุน "สหรัฐฯ – ญี่ปุ่น – อินเดีย"
"การเร่งตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกลับมาขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี น่าจะทำให้ปี 2560 เป็นอีกปีที่ดีของตลาดหุ้น โดยเรายังคงแนะนำ Overweight ใน 'ตลาดหุ้นสหรัฐฯ' ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Trump ส่วน 'ตลาดหุ้นญี่ปุ่น' มีปัจจัยบวกจากค่าเงินเยนอ่อนค่าและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกำไรบริษัทจดทะเบียน ประกอบกับ Valuation ที่ยังถูกจึงเป็นโอกาสลงทุน ส่วน 'ตลาดหุ้นอินเดีย' ที่ปรับฐานจากผลกระทบของการยกเลิกการใช้ธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี น่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวเพียงระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี" นายคมศร กล่าว พร้อมแนะนำให้ขายทำกำไร 'น้ำมัน' ที่ราคาปรับขึ้นมามากและข่าวดีจากความตกลงลดปริมาณการผลิตได้ถูกประกาศออกมาหมดแล้ว และทยอยสะสม 'ทองคำ' ที่ย่อตัวลงมากเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน
อย่างไรก็ดี ในปี 2560 ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ 1) ความเสี่ยงทางการเมืองจากการเจรจา Brexit และการเลือกตั้งในยุโรปหลายประเทศ 2) ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวลดลงหากกลุ่ม OPEC ตัดสินใจกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมปลายเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ และ 3) แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น เช่นการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการลดการอัดฉีดสภาพคล่องผ่าน QE ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4
บลจ. ทิสโก้ ชูกองทุนเด่นปี 60 เผยกองหุ้นยังมาแรง เน้น "สหรัฐฯ – ญี่ปุ่น – อินเดีย – จีน"
นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสสายการตลาด บลจ. ทิสโก้ กล่าวว่า ในปีนี้ บลจ. ทิสโก้ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปีที่หลายประเทศหันมาผลักดันนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ "สหรัฐฯ" และ "ญี่ปุ่น" ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทในตลาดหุ้นทำให้ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง โดย บลจ. ทิสโก้แนะนำลงทุนใน กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ อันเฮดจ์ (TUSEQ-UH) เน้นลงทุนในดัชนี S&P500 และมีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มจากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเป็นกองทุนที่ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน และ กองทุนเปิด ทิสโก้ เจแปน อิควิตี้ (TISCOJP) ที่ลงทุนในบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ 225 แห่ง อ้างอิงดัชนี NIKKEI 225
นอกจากนี้ กองทุนเปิด ทิสโก้ อินเดีย อิควิตี้ (TISCOIN) ซึ่งลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย ก็เป็นอีกกองทุนที่มีความน่าสนใจในฝั่งเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ โดยตลาดหุ้นยังซื้อขายกันที่ระดับราคายังไม่แพง นอกจากตลาดหุ้นอินเดีย บลจ.ทิสโก้ยังคงแนะนำตลาดหุ้นจีน ที่เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่การเชื่อมต่อระหว่างตลาดหุ้น Shenzhenกับ Hongkong ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะส่งผลให้มีเม็ดเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นจีนที่ฮ่องกงมากขึ้น บลจ.ทิสโก้จึงแนะนำ กองทุนเปิด ทิสโก้ ไชน่า H-Share อิควิตี้ (TISCOCH) ที่ลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงโดยอิงกับดัชนี HSCEI อีกกองหนึ่ง
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย แม้จะปรับตัวขึ้นมามากแล้วแต่ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการคัดสรรหุ้นรายตัว จึงขอแนะนำ กองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้ (TISCOMS) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดกลางและเล็กซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง คัดเลือกโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ และกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลในระดับสูง มีการจ่ายปันผลที่ดีและสม่ำเสมอ และมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง อย่างกองทุน ทิสโก้ ไฮ ดิวิเดนด์ หุ้นทุน (TISCOHD) และกองทุนเปิด ทิสโก้ ดิวิเดนด์ ซีเล็ค อิควิตี้ (TISCODS)
"สำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง และต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน สามารถลงทุนในกองทุนเปิด ทิสโก้ อินคัม พลัส (TINCOME) ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดสรรการลงทุนลงในหลายสินทรัพย์ ทั้งตราสารหนี้ หุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ REITs และ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยและเงินปันผล โดยบริษัทจัดการจะพิจารณารับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นรายไตรมาส เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทจัดการ" นายสาห์รัช กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยกองทุนมีนโยบายป้องกันอัตราความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศ
ด้าน นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล. ทิสโก้ ให้มุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในปีนี้ว่า มี Valuation ที่ค่อนข้างแพง แต่ EPS ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง SET Index จึงยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่มีความผันผวนและมี Upside จำกัด โดยกรอบ SET Index ในปีนี้จะอยู่ที่ 1,500-1,650 จุด และอาจมี Upside จากฟองสบู่ได้ถึง 1,700 จุด โดยในช่วงนี้ - เม.ย. จะเกิดปรากฏการณ์ Dividend Effect นักลงทุนซื้อหุ้นเพื่อเก็งปันผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น จึงแนะนำให้นักลงทุนทยอยซื้อหุ้นในช่วงที่ดัชนีย่อตัวลงมาและไปขายในช่วง มี.ค. - เม.ย. โดยแนะนำให้เล่นหุ้นที่ยังราคาขึ้นน้อย (Laggard) แต่มีผลประกอบการและปันผลดี ในกลุ่มธนาคารและก่อสร้าง
ทั้งนี้ ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทิสโก้สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ TISCO Contact Center โทร. 02-633-6000
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit