ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ทั่วประเทศ เล่าถึงจุดกำเนิดของสหกรณ์ในประเทศไทยเริ่มแรกว่า เกิดขึ้นยุคปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีมูลเหตุมาจากความเดือดร้อนของชาวนา ที่ขาดแคลนเงินทุนในการขยายการผลิตและการครองชีพ ต้องหันไปกู้ยืมเงิน ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงและยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้า ชาวนาจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา ทางราชการคิดหาวิธีช่วยเหลือ และเริ่มศึกษานำวิธีการสหกรณ์เข้ามาใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยมีพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยากรณ ได้ทรงเป็นผู้จัดตั้งและวางรากฐานสหกรณ์ในประเทศไทย โดยทดลองจัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้น ณ ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นแห่งแรกใช้ชื่อว่า "สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้" โดยจดทะเบียน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 นับเป็นการเริ่มต้นของสหกรณ์ในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์
ต่อมา วิธีการสหกรณ์ได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีการเพิ่มจำนวนและแบ่งประเภทของสหกรณ์ให้เข้ากับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและความเปลี่ยนแปลงตามสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันสหกรณ์แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์ร้านค้าและสหกรณ์บริการรวม 8,256 แห่ง เป็นสหกรณ์ในภาคการเกษตร จำนวน 4,675 แห่ง และสหกรณ์นอกภาคการเกษตรจำนวน 3,581 แห่ง จำนวนสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 11 ล้านครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวม 2.229 ล้านล้านบาท คิดเป็น 16.53 ของ GDP ประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงนำวิธีการสหกรณ์มาใช้ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในชนบท โครงการตามพระราชดำริหลายโครงการจะมีสหกรณ์เข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้าน รวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ มีการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกันตามหลักของสหกรณ์ ส่งผลทำให้ชุมชนเกิดความรักความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้าในที่สุด ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ราษฎรที่ได้รับพระราชทานที่ดินทำกินและอยู่อาศัยรวมกันในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ ในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2515 ตอนหนึ่งว่า
"...เป็นที่น่ายินดีมากที่บัดนี้หมู่บ้านตัวอย่างนี้ได้เป็นสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นี้ก็จะต้องให้เข้าใจว่า เป็นวิธีหนึ่ง มีการร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อที่จะให้ผลในการพัฒนาความเป็นอยู่ของตน และอยู่ร่วมกันก็ทำให้มีแรงมาก คือร่วมแรงมาเพื่อการอาชีพให้เจริญงอกงาม ให้เป็นสหกรณ์ในรูปอเนกประสงค์นั้น ก็ยิ่งจะได้ผลดี แต่ต้องเข้าใจมากขึ้น แล้วก็ต้องมีความอดทน ความขยัน และความสามัคคี คือว่า ทุกคนที่อยู่ในที่นี้ต้องช่วยกัน ไม่เบียดเบียนกัน คนไหนที่เดือดร้อนก็จะต้องช่วยเหลือ…."
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ประชาชนคนไทยนำ "ศาสตร์พระราชา" ซึ่งเป็น แนวพระราชดำริการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ ใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อสืบสานพระบรมราชปณิธาน ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ ผนวกกับนโยบาย "ประชารัฐ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน สหกรณ์สามารถทำหน้าที่เป็นโซ่กลางในการสื่อสารความต้องการของประชาชนในพื้นที่มายังรัฐบาลและส่งผ่านการสนับสนุนของภาครัฐสู่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดี
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้การนำของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งดำเนินการตามแผนยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ทั่วประเทศ ภายในปี 2560 โดยพัฒนาการบริหารจัดการธุรกิจของสหกรณ์ให้ผ่านมาตรฐาน ควบคู่กับการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้มีความโปร่งใส
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปภาคการเกษตรอย่างจริงจัง และมองเห็นว่าการปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนและจะประสบผลสำเร็จได้นั้น วิธีการสหกรณ์จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้สัมฤทธิ์ตามเป้าหมายได้ เนื่องจากทุกโครงการต้องอาศัยพลังของ การรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรให้มีโอกาสเติบโต พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อบริหารจัดการผลผลิตให้เป็นไปตามที่ตลาดต้องการ
นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายยกกระดาษ A4 ประกอบด้วย 9 นโยบายหลัก ที่มุ่งส่งเสริมเกษตรกรไปสู่เป้าหมายโดยพัฒนาและใช้พื้นที่เกษตรกรรมที่มีจำกัด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น มีความภูมิใจในอาชีพ และเป็นอาชีพที่สังคมยอมรับ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีหนี้สินลดลง โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิตลง 20 %ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20 % พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ มีตลาดรองรับ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าการเกษตร และทุกโครงการจะมีสหกรณ์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ทั้งนโยบายระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ บริหารจัดการผลผลิตในพื้นที่แปลงใหญ่ตั้งแต่การวางแผนการผลิตจนถึงการตลาด ช่วยลดต้นทุนจากการซื้อปัจจัยการผลิต และการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกัน โดยที่รัฐอุดหนุนงบประมาณให้สหกรณ์จัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรนำไปบริการแก่สมาชิกในพื้นที่แปลงใหญ่ ทำให้ระบบการบริหารจัดการผลผลิตมีประสิทธิภาพ นโยบาย Zoning by Agri-Map ปรับเปลี่ยนการผลิตที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ดำเนินการในเขตนิคมสหกรณ์ ขณะนี้ดำเนินการจนเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น นิคมสหกรณ์ทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี นิคมสหกรณ์พิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และนิคมสหกรณ์สตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชที่ไม่ได้ผล เนื่องจากสภาพดินและภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย มาเป็นการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ส่งเสริมการเลี้ยงโคขุน และการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อผลิตอาหารสัตว์
โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ สนับสนุนสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ 5,406 ราย เพื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรแบบผสมผสาน และเศรษฐกิจพอเพียงจากปราชญ์เกษตรในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียง และเมื่อก้าวสู่ขั้นที่ 2 ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้าไปแนะนำเกษตรกรรวมกลุ่มและวางระบบเรื่องการบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดร่วมกัน
นโยบายธนาคารสินค้าเกษตร สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารสินค้าเกษตรในสหกรณ์ เพื่อเปิดบริการ รับฝาก-ถอน ให้ยืมและแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิต เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนปัจจัยการผลิตสำหรับการประกอบอาชีพ ปัจจุบันมีธนาคารสินค้าเกษตรในสหกรณ์จำนวน 7 ประเภท ได้แก่ ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ธนาคารโคนมทดแทน ธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน และธนาคารข้าวในสถาบันเกษตรกร ธนาคารปลานิลพันธุ์ดีและธนาคารปัจจัยการผลิตหม่อนไหม
โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาแก่สมาชิกสถาบันเกษตรกร โดยอุดหนุนเงินกู้ให้แก่สหกรณ์นำไปให้สมาชิกกู้ยืมแบบปลอดดอกเบี้ย เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของตนเองอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำและเพิ่มโอกาสในการทำเกษตรกรรม
โครงการผลิตข้าวครบวงจร สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการรวบรวมข้าวให้กับสหกรณ์ ซึ่งฤดูกาลที่ผ่านมาสหกรณ์เข้ามามีส่วนในการช่วยรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ในฤดูกาลปี 2559/60 มีสหกรณ์รวบรวมข้าวเปลือก 326 แห่ง ปริมาณ 1,217,990.29 ตัน มูลค่า 9,179.46 ล้านบาท ส่วนหนึ่งสหกรณ์ที่มีโรงสีได้นำไปแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายสู่ตลาด ส่งผลให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำในช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะ การสร้างชื่อเสียงให้กับข้าวสารสหกรณ์เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
สำหรับในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 101 ปีสหกรณ์ไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับขบวนการสหกรณ์ทั่วประเทศ จัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศ โดยในส่วนกลางจัดขึ้นที่สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยและสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยมิพิธีวางพานพุ่มพระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาการสหกรณ์ไทย และจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวโครงการส่งเสริมสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล เป็นโครงการรณรงค์ให้สหกรณ์นำหลักธรรมาภิบาลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ มีระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นต่อสหกรณ์ และโครงการ Back to Member : สมาชิกคือหัวใจสหกรณ์ รณรงค์ให้สหกรณ์ยึดถือประโยชน์ของสมาชิกเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ซึ่งคาดหวังว่าทั้งสองโครงการจะช่วยยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ ให้พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นการก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ของสหกรณ์ในประเทศไทยได้อย่างสมศักดิ์ศรีและเต็มภาคภูมิ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit