นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ไทยได้ให้สัตยาบันยอมรับการแก้ไขพิธีสารมาราเกซเพื่อผนวกความตกลง เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลกไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศสมาชิกให้ได้สัตยาบันจำนวน 3 ใน 4 ของประเทศสมาชิก คือจำนวน 110 ประเทศ และล่าสุดประเทศเนปาลได้ยื่นให้สัตยาบันเป็นประเทศที่ 108 เรียบร้อยแล้ว และยังขาดเพียง 2 ประเทศ ที่จะทำให้ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้
สำหรับเนื้อหาความตกลง ประกอบด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติด้านการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนของสินค้า เช?น อัตราภาษีศุลกากร ค่าธรรมเนียม กฎหมาย กฎระเบียบ การออกคำวินิจฉัยล่วงหน้าเกี่ยวกับพิกัดของสินค้า การชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย และหลักเกณฑ์เงื่อนไข ด้านความร่วมมือกันของหน่วยงานศุลกากร เป็นต้น
ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าดังกล่าว จะมีส่วนสนับสนุนให้กระบวนการปฏิบัติ ด้านการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนของสินค้า ให้มีความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และมีความโปร่งใส ช่วยลดภาระต้นทุน ระยะเวลา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเสียหายง่าย นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของไทยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการค้าและการลงทุน โดยการลดต้นทุนรวมของการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการลดต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนเวลา และลดความไม่แน่นอนสำหรับการนำเข้า การส่งออก และผ่านแดนสินค้าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทย
ทั้งนี้ ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า มีการดำเนินสืบเนื่องจากปี 2556 ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 หรือ MC9 องค์การการค้าโลก (WTO) ได้มีมติให้ผนวกความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Agreement on Trade Facilitation: TFA) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลก และเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 คณะรับมนตรีจึงเห็นชอบบทบัญญัติที่ไทยพร้อมปฏิบัติได้ทันที ที่ความตกลง TFA มีผลบังคับใช้จำนวน 131 บทบัญญัติ เนื่องจากไทยมีความพร้อมและมีความสอดคล้องกับกฎระเบียบภายในประเทศที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit