ในปัจจุบันธุรกิจ SME เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินประมาณเพียงแค่กว่าร้อยละ 40 ของจำนวน SME ทั้งหมด โดย พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 2 กรกฏาคม 2559 อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในแวดวงสินเชื่อธุรกิจ SME เพิ่มเติม โดยพบว่า ณ วันที่ 31 มกราคม 2560 หรือ 7 เดือนแรกนับจากเริ่มใช้กฏหมาย มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวนกว่า 115,000 คำขอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จาก ณ สิ้นปี 2559 ในขณะมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.5 ในช่วงเวลาดังกล่าว หรือคิดเป็น 1.63 ล้านล้านบาท โดยสินทรัพย์ที่ถูกนำมาขึ้นทะเบียนมีความหลากหลายครอบคลุมหลายหมวด เช่น เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า สินค้าคงคลังและวัตถุดิบ เครื่องจักรและยานยนต์ ทั้งนี้ เงินฝากธนาคารยังนับเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดหรือถึงร้อยละ 59 ของสินทรัพย์ที่นำมาจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจทั้งหมด ในขณะที่สินทรัพย์หมวดใหม่ๆอย่าง ทรัพย์สินทางปัญญา และกิจการ ยังไม่รับความนิยมมากนัก
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ (Head Economist) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า "ที่ผ่านมา หลักประกันที่ผู้ประกอบการใช้เป็นหลักประกัน คือ สินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน โรงงาน ที่พักอาศัย ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฏหมายหลักประกันทางธุรกิจ ตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการ SME เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ไทยได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น"
จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ พบว่า ร้อยละ 80 เป็นธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งและธุรกิจบริการ ที่ส่วนใหญ่มีสินทรัพย์ถาวรน้อยแต่มีทรัพย์สินอื่นๆ จำนวนมาก ดังนั้น หากมูลค่าทรัพย์สินที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น และมีเงินทุนมากขึ้นในการดำเนินกิจการและลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจด้วยวงเงินสินเชื่อใหม่ๆ โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่า หากนำมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนี้สามารถส่งผลให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ SME เร่งตัวเร็วกว่าเดิมได้ถึง 2 เท่าจากอัตราการขยายตัวปกติ
"อย่างไรก็ตาม การนำกฏหมายหลักประกันทางธุรกิจ ไปใช้ในทางปฏิบัติระยะ 7 เดือนแรก มีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่ซึ่งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ SME ยังไม่มีประสบการณ์และความคุ้นเคยมาก่อน อีกทั้งยังมีรายละเอียดของกระบวนการและระบบที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ดังนั้น เพื่อให้กฏหมายดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ง่าย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันเพื่อบูรณาการกระบวนการทำงานร่วมกัน อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ดีขึ้นและเป็นฐานสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว" นายเบญจรงค์สรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit