ในงาน นายแพทย์กิตติ ตู้จินดา สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดผ่านกล้องโรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งนับเป็นแพทย์ไทยเพียงคนเดียวที่ได้นำเสนอความก้าวหน้าในการผ่าตัดมดลูกโดยไม่มีแผลร่วมด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านช่องคลอดประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในเอเชีย มาโชว์นวัตกรรมการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช แบบไร้รอยแผล "Single Port Platform" นั้น กล่าวว่า เพื่อเป็นการพัฒนาวงการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติยิ่งขึ้น ตนได้ออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ Single Port Platform ขึ้นมาใหม่ใช้ชื่อว่า Kitti Port และร่วมกับบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นดำเนินการผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้ขึ้นมาเป็นมาตรฐานสากล ทำให้การผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียวง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งจากการใช้เทคนิคพิเศษนี้ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชให้แก่ผู้ป่วยมากว่า 80 ราย พบว่า เกิน 90% ของการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชสามารถใช้ Single Port Platform ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"โดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชจะมีแผลประมาณ 3-4 แผล ได้แก่ แผลที่สะดือขนาด 0.5-1.2 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของเลนส์ที่ใช้ผ่าตัด นอกจากนี้ก็จะมีแผลบริเวณท้องน้อยอีก 2-3 แผล แต่การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเดียวแนวใหม่จะมีแผลเฉพาะที่สะดือเพียงแผลเดียวขนาดประมาณ 1.2 -1.5 เซนติเมตรเท่านั้น การผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียวเป็นเทคนิคทางการแพทย์เริ่มประมาณ10-15 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากทำได้ยากและหลายกรณีทำไม่ได้และแผลมีขนาดใหญ่ประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร รวมถึงแพทย์ต้องมีเทคนิคเฉพาะตัวและมีเครื่องมือที่เหมาะสมจึงจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ" สูตินรีแพทย์ชื่อดังกล่าว
นายแพทย์กิตติ กล่าวต่อว่า ในกรณีที่คนไข้มีเนื้องอกมดลูกและไม่ต้องการเก็บมดลูกไว้แล้ว ส่วนใหญ่ มากกว่า90% สามารถผ่าตัดมดลูกออกทางช่องคลอดได้โดยไม่มีแผลเลย แต่ถ้าคนไข้ยังต้องการเก็บมดลูกไว้ก็สามารถใช้การผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียวได้ นอกจากนี้การผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียวยังสามารถใช้กับการผ่าตัดทางนรีเวชอื่นๆ เช่น ผ่าตัดซีสต์รังไข่ เช่น ชอคโกแลตซีสต์ ผ่าตัดเลาะพังผืดรอบมดลูกหรือรังไข่ ผ่าตัดตัดท่อนำไข่ หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดไส้ติ่ง ซึ่งข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้รอยแผลนี้ จะช่วยทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บน้อย เพราะมีแผลเดียวลง เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดส่องกล้องแบบหลายแผล และแผลที่เกิดขึ้นจะอยู่ในสะดือเพียงแผลเดียว ประมาณห้าสัปดาห์หลังผ่าตัดแผลจะหายสนิทและแทบมองไม่เห็นรอยแผล ทำให้ร่างกายของคนไข้มีความสวยงามมากกว่า
อย่างไรก็ดี สำหรับข้อกำจัดของการผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้รอยแผล นายแพทย์กิตติ กล่าวว่า
ในกรณีที่เป็นเคสยาก เช่น เนื้องอกมีขนาดใหญ่มากเกิน 8 เซนติเมตรขึ้นไป คนไข้เคยผ่านการผ่าตัดมาหลายครั้ง หรือมีพังผืดเยอะมาก ข้อจำกัดเหล่านี้อาจทำให้ไม่สามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องได้ทั้งแบบแผลเดียวและหลายแผล ซึ่งเคสประเภทนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 5-10% หากพบกรณีนี้แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดโดยการเปิดหน้าท้องหรือรักษาด้วยวิธีอื่นตามความเหมาะสม
"เมื่อหกเดือนที่แล้วมีผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นเนื้องอกมดลูกขนาดประมาณ 6 ซม.แต่ผู้ป่วยยังต้องการมีบุตรอยู่ ซึ่งหลังจากผ่าตัดด้วย Single Port Platform ไปประมาณ 3-4 เดือน ผลการรักษาเป็นไปด้วยดีสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ ในทางนรีเวชเนื้องอกมดลูกถือเป็นโรคที่พบบ่อยมาก อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาพบสถิติว่าผู้หญิงมีโอกาสเป็นเนื้องอกมดลูกมากถึง 70% ส่วนในประเทศไทยผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 40% แต่ในจำนวนผู้หญิงที่เป็นเนื้องอกมดลูกทั้งหมด มีประมาณ 20-25% เท่านั้นที่ต้องได้รับการรักษาเพราะมีอาการบ่งชี้ เช่น เลือดออกมาก ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย หรือถ้าต้องการมีบุตรก็ควรเอาเนื้องอกออกก่อน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเนื้องอกมีขนาดเล็กไม่มีอาการเจ็บป่วยอะไร กรณีแบบนี้แค่มาติดตามตรวจดูอาการปีละครั้งก็พอ และเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเนื้องอกจะหายไปเอง" สูตินรีแพทย์ชื่อดังกล่าว
สำหรับนายแพทย์กิตติ ตู้จินดา สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดผ่านกล้องโรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช (Laparoscopic Gynaecologic Surgery) มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษานานกว่า 7 ปี ศึกษาต่อเนื่องด้านการใช้กล้องตรวจรักษาทางนรีเวชที่ รพ.ศิริราช ผ่านการเทรนนิ่งต่อเนื่องด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชในสาขา Gynecologic Laparoscopic Surgery กับสถาบัน Justus-Liebig ที่เยอรมัน เป็น 1 ใน 5 แพทย์ในประเทศไทยที่ใช้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชแบบแผลเดียว (single-port Laparoscopic Surgery) ใช้เทคนิคการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy for non-descent and enlarged uterus) โดยไม่มีแผลได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ ยังเป็นแพทย์ไทยเพียงคนเดียวที่ได้นำเสนอความก้าวหน้าในการผ่าตัดมดลูกโดยไม่มีแผลร่วมด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านช่องคลอดประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในเอเชีย เมื่อปี 2013 ในที่ประชุมนานาชาติ APAGE 2013 Korea Scientific Program ของสมาคมหมอผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชของเอเชียแปซิฟิก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit