รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้มีนโยบายและการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases, NCDs) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงและพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จากสถานการณ์ของโรคไตในปัจจุบัน กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับทั่วโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการบริโภครสเค็มของคนไทย โดยเฉพาะในปัจจุบันพบว่าเด็กและผู้ใหญ่ มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป และมีภาวะเสี่ยง "อ้วนลงพุง" เป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคไตเพิ่มมากขึ้นทุกปี และยังทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดอื่น ๆ ตามมาด้วย อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น จึงทำให้เกิดการรณรงค์วันไตโลกและสัปดาห์วันไตโลกในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และหาวิธีการป้องกันอย่างเหมาะสม
รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า บทบาทในการดูแลและรักษาผู้ป่วยทางด้านโรคไตและโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับอวัยวะที่เรียกว่า ไต อยากจะอธิบายอย่างชัดเจนให้เห็นภาพว่า ไต มีความสำคัญต่อชีวิตของคนเราอย่างไรบ้าง ไตเป็นส่วนหนึ่งของทางเดินปัสสาวะซึ่งมีหน้าที่สร้างปัสสาวะทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ 4 ส่วน คือ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และ ท่อปัสสาวะ ไตเป็นอวัยวะที่ผลิตปัสสาวะจากการกรองเอาของเสีย น้ำและเกลือแร่ส่วนเกินจากเลือดที่ไหลผ่านไต ปัสสาวะเมื่อผลิตจากไตแล้วจะผ่านมาทางท่อไตไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ เมื่อปริมาณปัสสาวะที่เก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะมาก พอเราจะรู้สึกปวดปัสสาวะเมื่อถึงเวลาที่เราต้องการปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวและหูรูดของกระเพาะปัสสาวะจะเปิดออก ทำให้ปัสสาวะไหลผ่านท่อปัสสาวะออกสู่ภายนอก หน้าที่สำคัญของไตคือการสร้างปัสสาวะซึ่งจะช่วยขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และช่วยในการรักษาความปกติของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย นอกจากนั้นไตยังมีหน้าที่ในการสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นเมื่อไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วยเพราะฉะนั้นไต จึงมีความสำคัญที่ต้องการให้คนไทยทุกคนรู้จักการถนอมไต โดยการลดการรับประทานเค็มนั่นเอง
สำหรับอาการของโรคไต สังเกตง่าย ๆ คืออาการบวม ทุกคนคงเคยมีการบวมมาแล้ว การบวมส่วนใหญ่เป็นการบวมเฉพาะที่ เช่น ถูกแมลงกัดต่อย ฟกช้ำหลังเล่นกีฬา การบวมแบบนั้นมักไม่มีปัญหามาก การรักษาเฉพาะที่จะทำให้อาการบวมดีขึ้นในเวลาไม่นาน แต่การบวมที่มีความสำคัญที่เป็นอาการเริ่มแรกของโรคไต ก็คือการบวมทั้งตัว ระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตาและหน้าจะรู้สึกว่าแหวนหรือรองเท้าคับขึ้น ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง ถ้าบวมไม่มากอาจสังเกตไม่เห็น ลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อยจะมีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่าบวมแน่น อาการบวมเกิดจากการมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกาย โรคสำคัญที่ทำให้บวมก็คือ โรคไต โรคหัวใจ และโรคตับ ดังนั้นถ้ามีการบวมทั้งตัวความรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเช็คและอาจจำเป็นต้องเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะด้วย
พญ.สุขฤทัย เลขยานนท์ อายุรแพทย์โรคไต ผู้แทนจาก มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยโดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2521 ในปัจจุบันได้พัฒนาในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไตอย่างมาก มีการนำเอาวิทยาการ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ทันสมัยมาทำการรักษาผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้ว่ามีการใช้เครื่องไตเทียมและการผ่าตัดเปลี่ยนไต แก่ผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายเป็นอย่างดี สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยต่อไปได้ อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วยโรคไตเป็นการรักษาที่ต้องอาศัยเวลาและเงินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นคนยากจนแล้วย่อมมีปัญหาเป็นทวีคูณ โรคไตนี้แม้มิใช่โรคที่จัดว่าเป็นโรคที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่วยเป็นโรคนี้มาก แม้โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนจะได้พยายามให้การรักษาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากค่านิยมจากการรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มเป็นประจำ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการรณรงค์ปรับค่านิยม ในการลดการบริโภคเค็มกันต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะภาคใดภาคหนึ่งเท่านั้น มูลนิธิโรคไต พร้อมที่สนับสนุนในการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและสนับสนุน ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไต รวมทั้งการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดเปลี่ยนไต มีการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาค้นคว้าและวิจัย เพื่อทำให้การรักษาและป้องกันโรคไต เป็นผลดียิ่งขึ้น มีการจัดสรรค่ารักษาพยาบาล ค่ายาให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ให้การสนับสนุนการผ่าตัดเปลี่ยนไต จัดตั้งหน่วยไตเทียมมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย 6 แห่ง และมีการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาลต่าง ๆ และเพิ่มเติมเครื่องไตเทียม รวมถึงการจัดตั้ง "หน่วยไตเทียมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา"
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยลดพุง กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า "อ้วนและอ้วนลงพุง" เป็นปัญหาระดับโลกและระดับชาติของประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว เชื่อว่าขณะนี้ทั่วโลกมีคนอ้วนมากกว่า 600 ล้านคน จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยเมื่อปี 2557 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีปัญหาอ้วนร้อยละ 37.5 คิดเป็นคนอ้วนจำนวน 20.8 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.8 ล้านคนใน 5 ปีที่ผ่านมา (เมื่อปี 2552 มีคนไทยอ้วน 16 ล้านคน) ผู้หญิงอ้วนมีจำนวนมากกว่าผู้ชายอ้วน คนอ้วนหมายถึงคนที่มีดัชนีมวลกาย 25 กก./ม.2 ขึ้นไป คนอ้วนลงพุงคือคนที่มีรอบพุงมากกว่าความสูงหารด้วย 2 ซึ่งคนไทยร้อยละ 39.1 มีปัญหาอ้วนลงพุง สำหรับคนเอเชียดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กก./ม.2 ขึ้นไปถือว่าอ้วนอันตราย
คนอ้วนทุกคนอ้วนมีพุงเรียกว่าอ้วนลงพุง แต่คนลงพุงบางคนไม่อ้วน อ้วนลงพุงคืออ้วนที่ทำให้เกิดปัญหา เป็นสื่อสัญญาณบอกว่าจะมีโรคหลายๆ โรคเกิดขึ้นในอนาคต คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต มีการหยุดหายใจขณะหลับ โรคอื่น ๆ และโรคมะเร็งหลายชนิด เรียกกลุ่มโรคนี้ว่าโรคเรื้อรัง หรือ เอ็นซีดี (NCD) ที่เห็นชัดคือโรคเบาหวานในปี 2552 มีคนไทยเป็นเบาหวาน 3.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านคนในปี 2557
ไตเสื่อมที่เป็นมากขึ้นจนถึงไตวายมีสาเหตุมากมาย โรคเบาหวานเป็นสาเหตุอันดับ 1 และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าอ้วนลงพุงก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไตเสื่อมไตวายได้ อ้วนลงพุงอาจเป็นสาเหตุนำที่ทำให้ไตเสื่อมแล้วมีสาเหตุอื่น ๆ ตามมาจนไตวาย หรืออ้วนลงพุงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคขึ้น แล้วโรคนั้น ๆ กระทบไต เกิดไตเสื่อมไตวาย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้อ้วนลงพุงยังทำให้เกิด โรคนิ่ว โรคมะเร็งไตได้ เซลล์ไขมันในคนอ้วนสร้างปัญหาจากฮอร์โมนอะดิโปเน็คตินของเซลล์ไขมันลดลง และปล่อยสารหลายชนิดออกมามากเกิน จนรบกวนการทำงานของเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายทำให้เกิดโรคในที่สุด
คนอ้วนลงพุงน้ำหนักตัวมากระดับอ้วนอันตรายมีการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณเลือดไหลเวียนเข้าสู่ตัวกรองของไตมากขึ้น แรงดันในตัวกรองของไตสูงกว่าปกติ ถ้าเป็นอยู่นานๆ ไตจะเริ่มเสื่อม นอกจากนั้นไขมันที่มากเกินจะเข้าไปพอกพูนรอบไตและในอุ้งกรวยไต ในเซลล์ที่เป็นผนังของท่อที่ออกจากตัวกรองของไตอาจมีไขมันเข้าไปแทรกอยู่ทำให้การดูดซึมแลกเปลี่ยนเกลือแร่และสารบางชนิดผิดปกติ ซึ่งเสริมหรือเร่งการเสื่อมของไต การเปลี่ยนแปลงนี้ค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลานานเป็นสิบ ๆ ปี จึงจะตรวจพบ แต่ถ้าอ้วนลงพุงทำให้เกิดโรคเบาหวาน และ/หรือ ความดันโลหิตสูง หากไม่รักษาหรือควบคุมไม่ได้ การเสื่อมของไตจะเกิดเร็วขึ้น และการเกิดไตวายอาจใช้เวลาสั้นลง
ที่อยากเน้นคือ "อ้วนและอ้วนลงพุง" เกิดจากการกินอยู่ที่ขาดสมดุล สามารถแก้ไขป้องกันได้ หากอ้วนแล้วรีบลดน้ำหนักลงก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่กล่าวถึงทั้งหมด หรือชะลอไม่ให้เกิดโรคที่กระทบไตจนส่งผลให้ไตเสื่อมไตวาย คนที่เป็นโรคแล้วต้องรักษาสุขภาพ ควบคุมโรคให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดไตเสื่อมไตวาย
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การจัดงานกิจกรรมวันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็มประจำปี 2560 ในครั้งนี้ สำหรับการทำงานของเครือข่ายลดบริโภคเค็มที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำการรณรงค์ให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ให้ลดลง อีกทั้งยังต้องการให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงพิษภัยของการบริโภคเค็ม ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งในทุก ๆ ปีเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม จะต้องนำงานวิจัยในโครงการฯ ที่ประสบความสำเร็จ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยรวมถึงผลงานการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม นำมาเผยแพร่ให้กับสาธารณชนได้รับรู้ และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนัก ละหรือเลิก หันมาใส่ใจในการบริโภคเค็มให้น้อยลง
ผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่นั้น เรามักจะนึกถึงแต่ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานและโรคความดัน ซึ่งโรคเหล่านี้จะมาพร้อมกับภาวะไตวาย จึงจำเป็นต้องได้รับการฟอกไตและในส่วนใหญ่แล้วประชาชนน้อยคนนัก ที่จะทราบว่า โรคไต นั้นมาพร้อมกับความอ้วน ในปีนี้เราจึงได้จัดงานสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี 2560 ภายใต้คอนเซ็ปต์ "อ้วนกลมระทมไต" ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเด็กและผู้ใหญ่ มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป และมีภาวะเสี่ยง "อ้วนลงพุง" เป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคไตเพิ่มมากขึ้นทุกปี และยังทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดอื่น ๆ ตามมาด้วย อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น จึงทำให้เกิดการรณรงค์วันไตโลกและสัปดาห์วันไตโลกในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และหาวิธีการป้องกันอย่างเหมาะสม โดยในปีนี้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2560 เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และการป้องกันอย่างเหมาะสม สำหรับกิจกรรม "วันไตโลก" ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการ ด้านการให้ความรู้เรื่องโรคไต การตรวจสุขภาพ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพไต การแสดงจากศิลปินและวงดนตรีชื่อดัง พร้อมดาราชื่อดัง จากไทยทีวีสีช่อง 3 มาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง นอกจากนี้ผู้ที่สนใจสั่งซื้อเสื้อยืดวันไตโลก 2560 รายได้ส่วนหนึ่งมอบให้มูลนิธิโรคไตฯ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-718 1898 หรือเว็บไซต์ www.nephrothai.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit