โรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ละโรงนั้นต่างปล่อยสารพิษอันเป็นอันตรายออกมาหลากหลายชนิด ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในดิน แหล่งน้ำ และมลพิษทางอากาศ รวมถึงก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
หากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ถูกสร้างขึ้นจริง ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน จากสาเหตุหลัก 3 กระบวนการ คือ กระบวนการขนส่ง กระบวนการแปรสภาพ และกระบวนการแปรสภาพเป็นความร้อน ซึ่งในขั้นตอนการขนส่งกับการแปรสภาพนั้นจะทำให้ถ่านหินฟุ้งกระจายไปตามอากาศ เกิดเป็นฝุ่นละอองเล็กๆ ปลิวไปตกตามบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดเป็นคราบถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการแปรสภาพเป็นความร้อน ซึ่งในขั้นนี้จะต้องมีการเผาไหม้ที่จะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ อันประกอบไปด้วย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ รวมถึงสารเคมีอื่นๆ
ลองมาทำความรู้จักกับอันตรายที่แฝงมากับถ่านหินที่ซุกซ่อนภัยมืดคุกคามสุขภาพของผู้คน แล้วอาจลองตั้งคำถามให้ภาครัฐได้คิดอีกสักนิดว่า ถูกแล้วหรือ??? ที่จะผลักดันพลังงานถ่านหินโดยที่ไม่สนใจกับสุขภาพของประชาชน
ผลจากการศึกษาวิจัยของกลุ่มแพทย์ในสหรัฐอเมริกา องค์กรแพทย์เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (Physicians for Social Responsibility: PSR) ได้เผยว่ามลพิษจากการเผาผลาญถ่านหินนั้นคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ซึ่งสำหรับในสหรัฐอเมริกานั้นมีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษถ่านหินสูงถึงหลายหมื่นคนต่อปี และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคทางระบบประสาท ทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็ง ด้วยมลพิษจากถ่านหินสูงถึงสี่ในห้าของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วสหรัฐอเมริกา
จากเหมืองขึ้นสู่ท้องฟ้า จากการขุดเจาะไปจนถึงการเผาไหม้ ก่อให้เกิดมลพิษในทุกขั้นตอนการผลิต โรงไฟฟ้าถ่านหินปลดปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมลพิษหลักนั้นได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ฝุ่น และปรอท ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะใช้ดักจับปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีสารโลหะหนักต่างๆ เช่น อาร์เซนิก แบรีเลี่ยม แคดเมี่ยม โครเมี่ยม ตะกั่ว แมงกานีส นิกเกิล เรเดี่ยม เซลีเนี่ยมและโลหะชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในผงฝุ่นที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย สารพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นจะวนเวียนอยู่ในห่วงโซ่อาหารของสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น เมื่อคนในชุมชนบริโภคปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษเข้าไป คนก็จะได้รับสารพิษนั้นเข้าสู่ร่างกาย
มีผลการวิจัยออกมาว่า หนึ่งในสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด คือ ฝุ่นผงจากถ่านหิน โดยการสูดหายใจเอาฝุ่นผงจากถ่านหินเข้าสู่ปอดนั้นสามารถทำให้คนงานเหมืองถ่านหินเป็นโรคปอด หรือที่เรียกว่า "ปอดสีดำ" (black lung) ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ฝุ่นผงถ่านหินนั้นฝังตัวอยู่ในปอด ทำให้หายใจได้ลำบาก การวิจัยระบุว่าโรคนี้เกิดขึ้นกับร้อยละ 2.8 ของคนงานเหมืองถ่านหิน และร้อยละ 0.2 ของคนงานถ่านหินมีรายแผลเป็นในปอด ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงที่สุดของโรคนี้ โดยในแต่ละปีนั้นมีผู้เสียชีวิตเกือบ 400 คน จากอาการปอดสีดำนี้
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าว "ถ่านหินสะอาดคือความพยายามของภาคอุตสาหกรรมเพื่อลบล้างภาพลักษณ์ที่สกปรก เป็นคำประดิษฐ์ของอุตสาหกรรมถ่านหิน เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินสกปรกน้อยลงนั้นมีราคาสูงมาก และหากภาครัฐยังคงเสพติดอยู่กับพลังงานถ่านหิน ประชาชนอาจต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะลบปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมออกไปได้ทั้งหมด โรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้ทุกคนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ อันเกิดขึ้นจากมลพิษของถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็นอายุเท่าใด หรือมีร่างกายแข็งแรงเพียงใด ก่อนจะเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายควรใคร่ครวญสักนิดว่า ควรแล้วหรือที่จะเติมสารพิษสู่ปอดของประชาชน และเติมมลพิษร้ายสู่สิ่งแวดล้อม คุ้มแล้วหรือที่จะเอาสุขภาพของประชาชนไปแลกกับไฟฟ้าทั้งที่มีทางเลือกที่ยั่งยืนและปลอดภัยกว่าอย่างพลังงานหมุนเวียน"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit