นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กสท. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 มีมติให้สำนักงาน กสทช. เชิญผู้แทน บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 6/60 วันจันทร์ที่ 20 ก.พ. นี้ เรื่องแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณีขอยกเลิก HBO 6 ช่องรายการ ซึ่งจะพิจารณาข้อเท็จจริงว่าได้แจ้งให้ผู้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากแจ้งน้อยกว่า 30 วัน จะพิจารณาให้มีคำสั่งทางปกครองเนื่องจาก ถือเป็นการกระทำผิดตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัทฯ ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตามข้อ 5 (7) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ทั้งในฐานะที่บริษัททรูฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการช่องรายการ และโครงข่ายที่ให้บริการ นอกจากนี้ กสท. จะพิจารณาว่าแผนเยียวยาที่ทรูส่งมาให้มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเคยเสนอความเห็นต่อ กสท.ว่าแผนเยียวยาดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
นางสาวสุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กสท.ได้เชิญตัวแทนบริษัทมาเจรจาแผนเยียวยาผู้ใช้บริการในบอร์ดวันจันทร์นี้ ส่วนตัวหวังว่าอย่างน้อยบอร์ดต้องมีมาตรการลงโทษที่แจ้งสมาชิกน้อยกว่า 30 วัน และยื่นข้อเสนอกับทรูวิชั่นส์เรื่องแผนเยียวยา 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 หากนำช่องรายการมาทดแทนช่องที่ถูกยกเลิกไปจะต้องมีคุณภาพไม่น้อยไปกว่าช่องเดิม แต่หากมีจำนวนช่องและคุณภาพที่น้อยกว่าจะต้องลดค่าแพ็คเกจ หรือต้องหาวิธีการชดเชยเยียวยาอื่น เช่น ปรับระดับแพ็คเกจหรือโปรโมชั่นเสริมอื่นๆ เป็นต้น แนวทางที่ 2 หากไม่นำช่องรายการมาทดแทนควรจะต้องลดค่าแพ็คเกจและหาวิธีการอื่น หรือโปรโมชั่นเสริมชดเชย โดยให้คำนวณมูลค่าเต็มจากช่องรายการไม่หักสัดส่วนเนื่องจากไม่มีช่องมาทดแทน และแนวทางที่ 3 ลดค่าแพ็คเกจตามสัดส่วนหรือชดเชยด้วยวิธีการอย่างอื่นหรือเสริมโปรโมชั่นตลอดอายุสัญญาของผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นการชดเชยเพิ่มเติมจากมูลค่าที่เสียไป เป็นต้น
นอกจากนี้ กสท.เตรียมพิจารณา วาระมาตรการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด กรณี บริษัทฯ แจ้งความประสงค์ขอยกเลิกการให้บริการ 30 ช่องรายการ โดยบริษัทฯได้เสนอมาตรการเยียวยาในลักษณะของการให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียม CTH พร้อมรับชมแพ็กเกจ Beyond CTHZ Package ฟรี นาน 4 เดือน 8 เดือน และ 12 เดือน และหากลูกค้าไม่ยอมรับการชดเชยต้องคืนเงินให้กับลูกค้าโดยหลักการคืนในจำนวนเงินตามวันที่ไม่ได้รับ ต่อมาบริษัท ซีทีเอช เคเบิ้ลทีวี จำกัด ได้ยกเลิกการให้บริการแพ็คเกจดังกล่าวและยุติการให้บริการโครงข่ายฯ แล้ว เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ดังนั้น มาตรการชดเชยเยียวยาที่บริษัทจีเอ็มเอ็มบีฯ เสนอจึงไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้เชิญบริษัทจีเอ็มเอ็มบีฯ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่บริษัทฯปฏิเสธการเข้าร่วม และไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ ให้ สำนักงาน กสทช. ทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จึงเสนอให้ กสท.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ติดตามตรวจสอบ ว่าบริษัท จีเอ็มเอ็ม บีฯ ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตหรือไม่ หากพบว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม บีฯ มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตาม ข้อ 19 ข้อ 20 และ ข้อ 21 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 หรือดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเห็นควรเพิกถอนใบอนุญาตเช่นเดียวกับกรณีของบริษัท ซีทีเอชฯ
สำนักงาน กสทช. เสนอวาระการส่งคืนคลื่นความถี่สถานีวิทยุ 1 ปณ. จำนวน 8 แห่ง ที่ดำเนินกิจการโดยสำนักงาน กสทช. ได้แก่ หลักสี่ AM.1089 KHzอุบลราชธานี FM.102 MHz อุดรธานี FM.99 MHz ภูเก็ต FM.89 MHz ลำปางAM.765 KHz อุดรธานี AM.1089 KHz บุรีรัมย์ AM.1593 MHz ตาก AM.1089 MHz ซึ่งเป็นคลื่นเดิมที่ได้รับโอนมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลขเดิมเพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ต่อไป ตามมาตรา 82 และ 83 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่มีสาระสำคัญ ให้ กสทช. ทำหน้าที่กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานรัฐ เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แม้ว่าต่อมา วันที่ 20 ธันวาคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) ออกคำสั่ง ที่ 76/2559 เรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้อ 7 มีสาระสำคัญ คือ ให้ขยายระยะเวลาการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐใช้ในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงออกไปอีก 5 ปี และให้มีสิทธิในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและถือครองคลื่นความถี่ดังกล่าวได้ตามเดิม ทั้งนี้แม้ว่า สำนักงาน กสทช. จะเสนอเรื่องคืนคลื่นทั้ง 8 แห่ง แต่ยังคงดำเนินกิจการสถานีวิทยุโดยให้ผู้อื่นแบ่งเวลาดำเนินรายการอีก 3 สถานี ได้แก่ กทม. FM.106.5 MHz FM.106.5 MHz และ AM.1035 KHz ในขณะเดียวกัน ที่ประชุม กสท. จะมีการพิจารณาวาระการพิจารณาให้สถานีวิทยุ 1 ปณ. FM.106.5 MHz ระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษทางปกครองต่อไป
วาระอื่นๆ น่าติดตาม ได้แก่ วาระการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบอุปกรณ์ซึ่งอาศัยคลื่นความถี่ TV White Space เป็นการชั่วคราว วาระการต่ออายุแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 วาระการขอลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม วาระการออก(ร่าง)ประกาศ เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล วาระสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ(ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟ.เอ็ม. และ(ร่าง)ประกาศ เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. วาระข้อเท็จจริงและข้อวิเคราะห์เพิ่มเติมกรณีการเพิ่มทุนจดทะเบียนและการเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นของบริษัท เดอะ วันเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และวาระอื่นๆ ติดตามในการประชุมวันที่ 20 ก.พ. นี้......
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit