นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาแนวทางพัฒนาการเกษตรจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรณีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 , 2 และ 12 ได้ดำเนินการศึกษาถึงสถานการณ์การค้า รูปแบบการบริหารจัดการด้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรของสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ ความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญในระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการค้าส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตร 5อันดับสูงสุด และผู้จัดการสหกรณ์ที่นำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรของไทย-เมียนมาร์ รวม 139 ราย พบว่า
สถานการณ์การค้าผ่านด่านศุลกากรแม่สอดจังหวัดตากปี 2559 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 68,313 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 64,240 ล้านบาท และมูลค่านำเข้า 4,073 ล้านบาท ซึ่งการนำเข้าสินค้าจะดำเนินการแบบมีข้อตกลงซื้อขายระหว่างกันของผู้ซื้อและผู้ขาย โดยร้อยละ 70 นำเข้าและส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายด้านการส่งเสริมการค้าชายแดนของทั้งสองประเทศ
สำหรับรูปแบบการบริหารจัดการด้านการนำเข้า - ส่งออกสินค้าเกษตรของสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ พบว่า มีสหกรณ์การเกษตรที่ดำเนินธุรกิจการค้ากับประเทศเมียนมาร์ 4 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด สหกรณ์นิคม แม่ระมาด จำกัด สหกรณ์การเกษตรแม่ระมาด จำกัด และสหกรณ์การเกษตรพบพระ จำกัด ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริมการค้าชายแดนที่มีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักภายใต้กรอบ AFTA ซึ่งอนุญาตให้นำเข้าผลผลิตได้ในช่วง1 กุมภาพันธ์ – 31 สิงหาคมของทุกปี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรภายในประเทศ โดยปริมาณการนำเข้าขึ้นอยู่กับปริมาณการจัดสรรโควตาให้แก่สหกรณ์
ด้านความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) เห็นว่าปัญหาการลักลอบค้าขายในบริเวณชายแดนน้อยลงและเปลี่ยนเป็นรูปแบบการซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาด้านโลจิสติกส์ และการพัฒนาคลังสินค้าเริ่มมีมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขันทางการค้าในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และปัญหาการลับลอบนำเข้าสินค้าเกษตรอยู่บ้าง
ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาการเกษตรในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ควรเน้น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) เน้นการทำงานร่วมกันระหว่าง Stakeholders ในพื้นที่ เช่น จัดเวทีเพื่อเจรจาให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าเกษตรดำเนินการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรม เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น 2) ประสานการทำงานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐของไทย - เมียนมาร์ เช่น จัดให้มีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสถานการณ์การนำเข้า - ส่งออกผ่านด่านชายแดนแม่สอด 3) ส่งเสริม สนับสนุน เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ เช่น สนับสนุนให้สถาบันเกษตรกร/ผู้ประกอบการภาคเอกชนสร้างคลังสินค้า (แก้มลิง) สนับสนุนอุปกรณ์การตลาด เช่น ไซโล เครื่องอบ ลานตาก ให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการผลผลิตในพื้นที่ และ 4) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น พัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ ตลอดจนจัดสรรและกำหนดกรอบอัตรากำลัง/บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐให้สามารถปฏิบัติงานประจำตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับท่านที่สนใจข้อข้อมูลผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถขอรับข้อมูลได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก โทร. 055 322 650 หรือ อีเมล [email protected]