"วิถีธรรม”…วิถีพลังพลเมือง

20 Feb 2017
"วิถีธรรม”…วิถีพลังพลเมือง

"พระอาจารย์มีความเชื่อว่าวัดเป็นที่พึ่งของคนในชุมชน เป็นสถาบันหลักของชุมชนในการเป็นที่ปรึกษาสำหรับคนที่เกิดปัญหา การทำหน้าที่ของอาตมาคือการเป็นผู้ให้ ถ้าถามว่าเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ อาตมาคิดว่ามันเกินกิจของสงฆ์ด้วยซ้ำไป ถ้าชาวบ้านหรือคนในชุมชนมีปัญหา วัดต้องเป็นสถานที่บำบัดความทุกข์แก่ชาวบ้าน"

พระครูสุจิณนันทกิจ หรือที่รู้จักในนาม "พระอาจารย์สมคิด" ประธานมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน พระนักพัฒนาที่นำ "กุศโลบาย"การลดข้อจำกัดต่างๆ ของการถือครองเพศบรรพชิต โดยมีทีมฆราวาสเข้ามาร่วมทำงานด้วย ซึ่งการพัฒนาเด็กและเยาวชนในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เยาวชนมีทักษะชีวิตในทุกด้าน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างศรัทธาจากชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการ"สร้างชุมชนเข้มแข็ง"ให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริง

"น่านมีบทเรียนที่น่าสนใจหลายเรื่อง แต่จุดอ่อนของน่านคือ การขับเคลื่อนกิจกรรมที่ยังไปไม่ถึงปลายทาง เรามีนักพัฒนาเยอะแยะ แต่ยังพัฒนาไม่ถึงเป้า เหมือนกับเราข้ามไปไม่ถึงฝั่ง ในฐานะพระสงฆ์พระอาจารย์คิดว่าวันนี้เรามีพลังมากพอ โจทย์คือจะทำอย่างไรกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อให้เขาเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมของทุกคน ดังนั้นอาตมาคิดว่าต้องทำให้วัดเป็นสถาบันการเรียนรู้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ถึงจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ซึ่งหลายๆ โครงการของ Active Citizen ก็มีสามเณรมาร่วมทำงานด้วย"

ทั้งนี้ บทเรียนที่ผ่านมาของจังหวัดน่านทั้งในเรื่องดิน น้ำ ป่า หรือปัญหาเบื้องต้นอื่นๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้จะมีการตื่นตัวเมื่อมีปัญหา แต่แนวคิดในการแก้ปัญหายังไม่ตรงจุด จากมุมมองดังกล่าวจึงนำไปสู่การคิดพัฒนาศักยภาพเยาวชนในพื้นจังหวัดน่าน กลุ่มสามเณรในโรงพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง ด้วยเห็นว่า สามเณรที่เข้ามาบวชเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมมีต้นทุนทางครอบครัว สังคม แม้กระทั่งฐานะต่ำกว่านักเรียนทั่วไป ดังนั้นการสร้างกระบวนการคิดที่ดีให้สามเณรจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเห็นว่าสามเณรคือพลังพลเมืองเยาวชนน่านที่จะช่วยพัฒนาเมืองน่านได้และโครงการนี้จะช่วยพัฒนาให้สามเณรเป็นคนดีและมีคุณภาพได้ โดยไม่ขัดต่อกิจของสงฆ์

ซึ่งพระครูสุจิณนันทกิจ มองว่าการที่พระสงฆ์หรือสามเณรเข้ามาทำงานเพื่อชุมชนของตัวเองถือว่าเป็นเรื่องที่พึงกระทำ เพราะอย่างน้อยกระบวนการดังกล่าวจะช่วยสร้างสำนึกรักบ้านรักเมืองจนติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่และท้ายสุดจะทำให้ชุมชนมีแกนนำ ผู้นำ หรือสมาชิกที่ดีมาช่วยขับเคลื่อนเมืองน่านให้น่าอยู่ต่อไป

การใช้วัดเป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับชาวบ้านถือเป็นการวางกลยุทธ์ที่แยบยล ในการสร้างผลลัพธ์ของทุนทางสังคมให้มีมูลค่าเพิ่ม เพราะด้วยบทบาทของความเป็นพระสงฆ์ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวแทนความเกี่ยวข้องทางศาสนาเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและชุมชนในวงกว้างอีกด้าน

สามเณรวีรพล สิงสาร แกนนำชุมนุมเดินสายบรรยายธรรม และแกนนำโครงการเคลื่อนพระธรรมนำสู่สังคม โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดพระธาตุแช่แห้ง กล่าวถึงการทำงานในโครงการว่า โครงการนี้ทำให้ สามเณรมีโอกาสเข้าไปแสดงบทบาทของตนเองต่อชุมชนและสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกไปเดินสายบรรยายธรรมตามชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน และได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะศาสนทายาท ถือเป็นความสำเร็จของโครงการที่ทำให้เหล่าสามเณรได้มีโอกาสนำธรรมะไปให้ชาวบ้านถึงในพื้นที่ เมื่อเทียบกับบทบาทเดิมที่สามเณรจะปาฐกถาธรรมเป็นเวลาสั้นๆ หน้าเสาธง หรือเมื่อมีงานสำคัญทางศาสนาในวัดพระธาตุแช่แห้งเท่านั้นขณะเดียวกันหนทางที่นำมาซึ่งความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถ่องแท้ จนสามารถบรรยายให้ผู้อื่นฟังได้นั้น สามเณรวีรพล กล่าวว่าต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ตั้งแต่ การศึกษาพระธรรม การฝึกทักษะการพูด จนกระทั่งการสอบทั้งต่อหน้าสามเณรแกนนำ พระพี่เลี้ยงและเจ้าอาวาส โดยแต่ละขั้นตอนจะมีมาตรฐานการวัดผลแตกต่างกันออกไป

"เป้าหมายของโครงการนี้คือต้องการให้สามเณรนำหลักธรรมที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันมาบรรยายให้ศรัทธาญาติโยมฟังได้อย่างถูกต้องและไม่ผิดเพี้ยน ไม่ถึงขนาดต้องนั่งเทศน์บนธรรมาสน์ เพียงแค่ยืนเทศน์ได้ 5 -15 นาที ตามโอกาสก็เพียงพอแล้ว"

ด้าน สามเณรณัฐบดี จันต๊ะวงค์ แกนนำจากโครงการบวชป่าอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการว่า การครองเพศบรรพชิตไม่ได้ปิดกั้นจิตสำนึกความเป็นพลเมือง สิ่งที่ทำให้ตนต้องการเข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากพบว่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดน่านเริ่มเข้าขั้นวิกฤติ จึงตั้งใจที่จะอนุรักษ์และพลิกฟื้นผืนป่าต้นน้ำ รักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม โดยใช้ "ความศรัทธา" เป็นอาวุธ เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ภายใต้ความเชื่อตามหลักพุทธศาสนา กับป่าชุมชนใน"พื้นที่เนินเขาวัดพระธาตุดอยจอมทอง"บ้านดอนสถาน ตำบลสถาน อำเภอปัว โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพระธาตุเก่าแก่ที่พุทธศาสนิกชนชาวอำเภอปัวนิยมไปเคารพสักการะ และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ ของชุมชนในท้องถิ่นด้วย

ขณะเดียวกันมองว่า พิธีบวชต้นไม้หรือบวชป่าถือเป็นกุศโลบายในการต่ออายุต้นไม้เพื่อไม่ให้ชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า เป็นการนำความเชื่อทางศาสนามาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ โดยเชื่อว่าหากนำจีวรมาห่มและทำพิธีบวชไปแล้วชาวบ้านจะไม่กล้าตัดต้นไม้อีก ซึ่งในอนาคตหากป่าชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ ป่าดังกล่าวจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชาวบ้านต่อไป

เช่นเดียวกับสามเณรอีกกลุ่มที่ร่วมกันทำโครงการกระดาษรีไซเคิล ซึ่งจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ไม่ใช่แค่ "กระดาษ" แต่เป็นการกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้สามเณรในโรงเรียนปริยัติธรรมเห็นคุณค่าของกระดาษ ด้วยการใช้กระดาษให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำกระดาษใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้งานได้อีก รวมทั้งต้องการให้สามเณรมีความรักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ใกล้ตัว นำกระดาษไร้ค่า กลับมาเพิ่มมูลค่า และทำให้กระดาษมีชีวิตใหม่ที่สวยงามขึ้นมาอีกครั้ง

จากคำถามที่ว่า การออกมาขับเคลื่อนชุมชนเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่…แม้จะอยู่ในสมณเพศ แต่ความไม่นิ่งดูดายต่อปัญหา พยายามเรียนรู้ และลงมือทำ ใน "บทบาท" ของการเป็น "พลังพลเมืองเยาวชน" ของสามเณรที่ลุกขึ้นมาทำประโยชน์เพื่อชุมชนน่านในแบบฉบับวิถีธรรม คือคำตอบของคำถามที่เห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรม.

"วิถีธรรม”…วิถีพลังพลเมือง "วิถีธรรม”…วิถีพลังพลเมือง