กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลอิควิตี้ (SCBGEQ) ในอัตรา 0.3173 บาทต่อหน่วย มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม2559 จำนวน 0.1244 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายปันผลงวดนี้ 0.1929 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 รวมจ่ายปันผล 0.8673 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 14 ก.พ.2556) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA) จ่ายปันผลในอัตรา 0.0791 บาทต่อหน่วย โดยจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 จำนวน 0.0408 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.0383 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 รวมจ่ายปันผล 0.0791 บาทต่อหน่วย (เมื่อนับจากจัดตั้ง 13 ก.พ.2558)
นายสมิทธ์ กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมากองทุนหุ้นต่างประเทศทั้ง 3 กองทุนสามารถปรับตัวเป็นบวก โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป(SCBEUEQ) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ iShares STOXX Europe 600 (DE) มีผลการดำเนินงาน 19.70% ต่อปี กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลอิควิตี้ (SCBGEQ) มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ กองทุน Veritas Global Focus (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) "C share class" ใน class ที่ลงทุนด้วยสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ (USD) มีผลการดำเนินงานอยู่ที่ 19.12% ต่อปี ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA) ซึ่งเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ ChinaAMC CSI 300 Index ETF มีผลการดำเนินงานอยู่ที่ 11.49% ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.พ.2560)
นายสมิทธ์ กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนในตลาดต่างประเทศว่า เศรษฐกิจยุโรปปรับตัวดีกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ แม้ปีที่ผ่านมาจะเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในการลงประชามติในอังกฤษและอิตาลี โดยปัจจัยบวกสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559เป็นต้นมาได้แก่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเห็นสัญญาณผ่านจุดต่ำสุดและราคาหุ้นถูกกว่าตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยผลประกอบการจะยังเป็นปัจจัยหนุนต่อเนื่องในปี 2560 นี้ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่มีโอกาสสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดได้คือความเสี่ยงด้านการเมืองในประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ซึ่งมีกำหนดการเลือกตั้งในปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสกุลเงินยูโร นอกจากนี้การส่งสัญญาณที่จะชะลอวงเงินการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางยุโรปซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจผ่านทางต้นทุนทางการเงินที่ปรับสูงขึ้น
ส่วนตลาดหุ้นจีนนั้นฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังเดือน ก.พ.2559 เนื่องจากพื้นฐานที่ดีขึ้นทั้งในภาพเศรษฐกิจและรายได้บริษัทจดทะเบียน โดยในปี2560 เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีที่ประมาณ 6.5% มีปัจจัยหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการบริโภคในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก นอกจากนี้การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะสนับสนุนให้รายได้บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเร่งตัวดีขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นยังต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียโดยรวม จึงเป็นตลาดหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูง แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา คือ ประเด็นนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มุ่งเป้ามายังประเทศจีน รวมทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่คาดว่ามีโอกาสจะปรับขึ้นในปีนี้ต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจตึงตัวและตลาดหุ้นเพิ่มความผันผวน