สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จ.นราธิวาส พร้อมบรรยายวิชาการโรคเรื้อน

16 Feb 2017
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย รวมใจเพื่อประชาชน ดำเนินตามรอยเบื้องยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอเชิญผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับโรคผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน โรคเรื้อนหรือโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ารับการตรวจสุขภาพและเข้ารับการบำบัดรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประจำปี 2560 ที่จังหวัดนราธิวาส ในวันพฤหัสบดี ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. ณ โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่ายในเวลา 13.30 – 15.30 น.จะจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์, แพทย์และนักศึกษาแพทย์ ในหัวข้อ "Meet The Exert in Leprosy" และยังมีการจัดกิจกรรมด้านโรคเรื้อนว่าด้วยเรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับงานโรคเรื้อนและมารู้จักโรคเรื้อนกันเถอะ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

เกี่ยวกับสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

สำหรับสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้มีการพัฒนา ก้าวหน้าอย่างเต็มภาคภูมิมาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา มีสมาชิกทั้งสมาชิกสามัญและสมทบรวมกันเกือบ 2,500 คน และมีการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิชาการโรคผิวหนังอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับและได้การยกย่องจากบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ มีส่วนร่วมให้การฝึกอบรมแก่แพทย์เฉพาะทางด้านตจวิทยาและแพทย์ทั่วไป เพื่อให้มีความรู้ความชำนาญในการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังให้แก่ประชาชนของประเทศ ทั้งยังเป็นเสาหลักที่พึ่งทางด้านวิชาการและการบริการดูแลรักษาโรคผิวหนังให้แก่ประชาชนทั่วไปตลอดมา

นับจากก่อตั้งเมื่อ 40 ปีมาแล้ว สิ่งที่สมาคมแพทย์ผิวหนังและกรรมการบริหารทุกสมัยยังคงยึดถือเป็นพันธกิจหลักของสมาคม คือการให้บริการด้านวิชาการ ด้วยการมอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคผิวหนัง การรักษาที่เป็นมาตรฐาน ถูกต้องตามหลักวิชาการและปลอดภัยแก่แพทย์และประชาชนทั่วไป

ในปัจจุบันมีการพัฒนาด้านความรู้และวิทยาการในการรักษาโรคผิวหนังเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทั้งแพทย์และประชาชนทั่วไปมีความตื่นตัวกับวิทยาการใหม่ด้านความงามเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงเป็นหน้าที่ของสมาคมฯและแพทย์ผิวหนังที่เป็นสมาชิก ที่จะต้องตอกย้ำพันธกิจหลักของพวกเรา พวกเราจะต้องศึกษา พิจารณาข้อดีข้อเสียของวิทยาการใหม่ ๆ และสามารถชี้แนะให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า สิ่งใดมีประโยชน์ มีหลักฐานทางการแพทย์รับรองที่น่าเชื่อถือได้และที่สำคัญจะต้องมีความปลอดภัย ไม่ทำอันตรายต่อผู้ป่วย