“รักในวัยเรียน” ของพลเมือง Active Citizen

16 Feb 2017
ถ้าจะให้นิยามความหมายของคำว่า รัก คงตีความกันได้หลายรูปแบบ รักบ้าน รักป่า รักธรรมชาติ รักครอบครัว รักเพื่อน แต่หากกำหนดนิยามของความรักให้แคบลงมาอีก กับคำว่า "รักในวัยเรียน" ของคุณคืออะไร? หลายท่านที่อ่านอาจจะค่อยๆ นึกถึงความรักแบบป๊อบปี้เลิฟ ที่พาให้หัวใจของคุณเต้นรัว อมยิ้มไปกับช่วงเวลาแห่งความสุข ณ ขณะนั้น

แต่...!!! รักในวัยเรียนที่กำลังพูดถึงไม่ใช่ความรักระหว่างชายหญิง หากแต่เป็นความรักที่เกิดขึ้นของเยาวชนที่ได้มีโอกาสลงมือทำในสิ่งที่พวกเขารัก และหวงแหนให้คงอยู่คู่ชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่สืบไป ผ่านการเข้าร่วมโครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ (Active Citizen) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาที่มีความรัก รักในชุมชนของตนเอง รักถิ่นเกิด รักในความเป็นชาติพันธุ์ เขียนโครงการเพื่อเข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเอง

เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลขับเคลื่อนโครงการ Active Citizen ที่มีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดสงขลา ก่อนจะขยายผลอีก 3 จังหวัดคือ จังหวัดน่าน ศรีสะเกษ และภาคตะวันตก 4 จังหวัดคือ จังหวัดสมุทรสงคราม กาญจนบุรี ราชบุรีและเพชรบุรี ด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้คิดและลงมือทำโครงการที่มาจากโจทย์ปัญหาในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ จนเกิดเป็นโครงการที่มาจากความชอบ ความรักของเยาวชนที่มีใจอยากที่จะทำ อยากจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้น ด้วยเชื่อว่าการทำงานในลักษณะนี้จะช่วยผูกคนรุ่นใหม่ให้รู้จักและเข้าใจรากเหง้าของแผ่นดินถิ่นเกิด ก่อเกิดเป็นสำนึกรักชุมชนในที่สุด

นางสาวจิราภา เทพจันตา – ปุ๊กกี้ ตัวแทนเยาวชนจากโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความรักในวัยเรียนของเธอว่า คือการที่เธอได้สืบสานศิลปะการฟ้อนรำไตลื้อและดนตรีพื้นบ้าน "หนูเป็นคนรักในการฟ้อนรำอยู่แล้ว เมื่อก่อนเวลาฟ้อนก็ฟ้อนไปเรื่อยไม่รู้ความหมาย แต่พอได้มาทำโครงการนี้ทำให้เราทราบถึงความเป็นมาของท่ารำที่สอดแทรกวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ทำให้เรารู้สึกรักบ้านเกิด เพราะได้มีโอกาสศึกษาเรื่องราวประวัติและความเป็นมาของท่ารำ ทำให้ยิ่งเกิดความรักและเข้าใจลึกซึ้งในศิลปวัฒนธรรมของไทลื้อมากกว่าเดิม เมื่อได้ศึกษาทำให้เรารู้ว่าทุกท่วงท่าที่เรารำล้วนมีความหมายที่แฝงเร้นไว้อยู่ในทุก ๆ ท่วงท่าของการร่ายรำ จนสามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องราวความเป็นมาให้กับน้อง ๆที่สนใจไปพร้อมๆ กับท่ารำได้"

เช่นเดียวกับเยาวชนจากโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา พวกเขาถ่ายทอดความรักในวัยเรียนของเขาผ่านการทำโครงการรวมพลฅนรักษ์โขน ความรักที่เกิดจากการไม่นิ่งดูดายต่อภาวะความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมสมัยใหม่ โดยเยาวชนกลุ่มนี้ยังคงยืนหยัดที่จะรักษาศิลปะการแสดงโขนให้คงอยู่สืบไป "ความรักในวัยเรียนของพวกเราคือการที่เราได้มีโอกาสรักษาสิ่งที่เรารักให้คงอยู่ นั่นคือการแสดงโขน พวกเราอยากนำเอาความรู้และความรักที่มีต่อการแสดงโขนออกไปเผยแพร่ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่รู้จักและรักโขนเหมือนพวกเรา เพราะเมื่อเขารักและเข้าใจที่มาของการแสดงโขนแล้วก็จะทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่...หันกลับมามอง สนใจ และเข้ามาฝึกการแสดงโขนด้วยความหวงแหนซึ่งจะเป็นการต่อลมหายใจของศิลปะการแสดงโขนไทยต่อไป..."

ในขณะที่นางสาววีรวรรณ ดวงแข หรือแอล เยาวชนตัวแทนจากโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภาคตะวันตกบอกว่า "ก่อนเข้าโครงการยอมรับว่าหนูเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้จักชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ หรือแม้แต่ตอนเข้าโครงการใหม่ๆ ก็ไม่รู้จักเพื่อน ๆ ในโครงการเลย แต่พอได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมบ่อย ๆ ทำให้เราได้เจอกันมากขึ้น ได้ช่วยเหลือกันมากขึ้น จากที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยสนใจกัน แม้กระทั่งคนในชุมชนด้วยกันเอง แต่โครงการนี้กลายเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของเยาวชนอย่างหนูให้ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคนในชุมชน ไม่เว้นแม่แต่เพื่อนร่วมโครงการ"

ด้านตัวแทนจากโครงการพลเมืองดีศรีสะเกษ จาก โครงการทวนเข็มนาฬิกา ย้อนเวลาหาความหลัง ได้ให้นิยามคำว่ารักของเขาว่า คือการรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง เมื่อเรารู้จักประวัติหมู่บ้านของเรา ยิ่งทำให้เรารักหมู่บ้านของเรามากขึ้น ยิ่งสืบค้น ยิ่งได้พูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนยิ่งทำให้พวกเรารู้ภูมิหลังของบ้านเรามากขึ้น ว่าบ้านเราเป็นชุมชนเก่าแก่ มีประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนาน เมื่อมีใครมาถามเราถึงประวัติหมู่บ้านเราสามารถตอบได้อย่างภูมิใจ ว่านี่คือถิ่นฐานที่บรรพบุรุษของเราเป็นผู้สร้างขึ้นมา

และนี่คือ "นิยามความรัก" ของพลังเยาวชนรุ่นใหม่ที่ใช้ "พลังแห่งความรัก" ที่มีอยู่ในเนื้อในตัว การเข้ามามีส่วนร่วม รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนอยากทำให้ชุมชน สังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ดีขึ้น ภายใต้คำว่า "รัก" ที่ก่อตัวอยู่หัวใจ รอเพียงผู้ใหญ่อย่างเราเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ "ความรัก"ที่เขามีอย่างถูกวิธี แล้วรักในวัยเรียนของคุณคืออะไร?

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit