มิวเซียมสยาม จัดงานเสวนา "สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540" ย้อนรอย 20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง มุ่งกระตุ้นคนไทยใช้บทเรียนจากประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคง และสร้างสังคมอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความเข้าใจด้านเศรษฐกิจ พร้อมฉายภาพเหตุแห่งความล้มเหลวในอดีต เช่น ความฟุ้งเฟ้อแบบสุดขีดของสังคมไทย อันสะท้อนได้จากการบริโภคในประเทศ อาทิ สุราแบลค เลเบิล ขายดีที่สุดในโลก รถเมอซีเดส เบนซ์ขายดีเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รถปิคอัพขายดีเป็นอันดับ 2 ของโลก ตลอดจนนักท่องเที่ยวไทยใช้เงินในต่างประเทศต่อคน มากกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยถึง 28.67% อย่างไรก็ตาม วิกฤตต้มยำกุ้งถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เผยให้เห็นถึงรากฐาน และลักษณะพิเศษของสังคมไทย ที่ได้รับการหยิบฉวยขึ้นมาใช้แก้ปัญหาในยามยาก อาทิ การเกิดขึ้นของอาชีพ "ฟรีแลนซ์" การทำธุรกิจเอสเอ็มอี การเปิดท้ายขายของ การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วยการท่องเที่ยว ฯลฯ ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้อาจจะเกิดวิกฤติขึ้นกับกลุ่มชนชั้นกลางถึงล่าง อันเนื่องมาจากวิถีการใช้จ่ายเงินที่เกินความจำเป็น
ทั้งนี้งานเสวนา "สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540" เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของนิทรรศการหมุนเวียน ชุด "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!" ที่เตรียมเปิดตัวขึ้น ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน ในวันที่ 6 มีนาคม 2560 เพื่อสร้างการเรียนรู้สังคมไทยอย่างสร้างสรรค์ ผ่านวิกฤตการณ์ที่คนไทยเลือกไม่ได้ โดยงานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคาร สาธรยูนีคทาวเวอร์ กรุงเทพฯสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ในปี 2560 นี้ เป็นวาระครบรอบ 20 ปีที่ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หรือที่เรียกกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง มิวเซียมสยาม ในฐานะองค์การจัดการความรู้ขนาดใหญ่ที่มีพันธกิจในการถ่ายทอดองค์ความรู้อันหลากหลายเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ทั้งในมิติประวัติศาสตร์และประเด็นร่วมสมัยไปสู่ประชาชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่องในสังคมไทย ได้จัดงานเสวนา "สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540" ขึ้น เพื่อย้อนรอยทศวรรษแห่งฟองสบู่ สู่ความล้มเหลวของภาคการเงินและสังคมไทย โดยมุ่งสร้างความเข้าใจในผลกระทบของวิกฤตดังกล่าวที่มีต่อภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนถอดบทเรียนจากอดีตมาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตของคนไทยอย่างมั่นคง และการพัฒนาสังคมให้เดินหน้าอย่างยั่งยืน
นายราเมศ กล่าวต่อว่า จากการศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤตต้มยำกุ้งของทีมวิชาการมิวเซียมสยาม พบว่าตลอดทศวรรษ 2530 ประเทศไทยดำรงอยู่ในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ (Bubble Economy) หรือภาวะที่ราคาของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าราคาตามความเป็นจริง และคนก็คิดว่าราคาจะเพิ่มสูงไปไม่สิ้นสุด จนเกิดการเก็งกำไรอย่างมโหฬาร ในรายงานของธนาคารโลกประจำปี 2538 ระบุว่าในรอบ 10 ปี (2528-2538) เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตสูงที่สุดในโลก ขณะที่การบริโภคภายในประเทศก็สะท้อนความฟุ้งเฟ้อของสังคมไทยแบบสุดขีด อาทิ สุราแบลค เลเบิล ขายดีที่สุดในโลก รถเมอซีเดส เบนซ์ขายดีเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รถปิคอัพขายดีเป็นอันดับ 2 ของโลก นักท่องเที่ยวไทยใช้เงินในต่างประเทศต่อคน มากกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยถึง 28.67%
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจอันซับซ้อนหลายประการ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาหนี้ต่างประเทศ การลงทุนเกินตัว ความไม่เชื่อมั่นอย่างรุนแรงต่อสถาบันการเงินในประเทศ นำไปสู่การโจมตีค่าเงินบาท จนในที่สุดรัฐบาลต้องตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เมื่อเงินบาทอ่อนค่าจาก 25 บาท เป็น 56 บาท ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศประมาณ 2 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว กลุ่มทุนธนาคารไทยต้องล่มสลาย สถาบันการเงิน 58 แห่งถูกปิด คนตกงานมากกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในสภาวะการผลิตล้นเกิน แรงงานต่างด้าวถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายมาแย่งงานในประเทศ และที่ร้ายแรงที่สุดคือปัญหาสังคม การฆ่าตัวตาย การตายของทารก การขาดสารอาหาร และเด็กที่ถูกทอดทิ้งพุ่งสูงขึ้น รวมถึงปัญหายาเสพติดที่มียาบ้าเพิ่มขึ้นถึงสี่ร้อยล้านเม็ดภายใน 1 ปี ผู้ต้องหาเพิ่มขึ้น เท่าตัวภายในสองปีหลังวิฤต และสามในสี่เกี่ยวพันกับยาเสพติด
แม้ประเทศจะตกอยู่ใต้เงาแห่งความสิ้นหวัง แต่ก็ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งดิ้นรนหาทางออกด้วยตนเอง จนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดท้ายขายของ การทำธุรกิจเอสเอ็มอี การประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ ขณะที่ธุรกิจส่งออกเมื่อผ่านการปรับโครงสร้างก็อาศัยสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนเปิดตลาดการค้าได้มาก เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวก็ได้อานิสงส์ค่าเงินบาท และนโยบายรัฐบาล Amazing Thailand รวมทั้งนโยบายคิดใหม่ทำใหม่ ของพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมาหลังวิกฤตได้กลายเป็นแนวทางหลักของการเมืองไทยหลังจากนั้น และที่ขาดไม่ได้คือ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการพัฒนาประเทศ จนนำไปสู่การบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 เพราะฉะนั้นวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เผยให้เห็นถึงรากฐาน และลักษณะพิเศษของสังคมไทย ที่ได้รับการหยิบฉวยขึ้นมาใช้แก้ปัญหาในยามยาก ที่คนไทยทุกคนสามารถทำความเข้าใจ และนำบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของตนเองและสังคมให้ดียิ่งขึ้น นายราเมศ กล่าวทิ้งท้าย
นายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์ กล่าวว่า เหตุการณ์วิกฤตทางการเงินในปี 2540 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มนักธุรกิจกิจสมัยนั้น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิ้นจากการที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จนต้องทยอยกันปิดกิจการไป นอกจากนี้ธนาคารส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ยังประสบปัญหาสภาพคล่อง เป็นต้นว่าผู้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ย และเงินต้นของธนาคารได้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนให้แก่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจให้รู้จักปรับตัวเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งต่อไปด้วยการลงทุนและฝากเงินในต่างประเทศ ในขณะที่ในอนาคตอันใกล้ที่อาจจะเกิดวิกฤติขึ้นจะเกิดกับกลุ่มชนชั้นกลางถึงล่าง ซึ่งต้องมาเผชิญปัญหาหนี้สินแทน เนื่องจากวิถีการใช้จ่ายเงินที่เกินความจำเป็น จากการใช้บัตรเครดิตที่เต็มวงเงิน เพราะไม่เคยประสบปัญหาทางการเงินมาก่อน
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะประสบวิกฤตในอนาคต โดยวิกฤตการณ์ทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในระลอกใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในแบบฉับพลันเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่จะค่อยๆ แทรกซึมผ่านต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลาง และผู้มีรายได้น้อยมากกว่า นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมกลับทำให้สภาวะทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในกรณีที่เกิดภาวะฟองสบู่แตก เนื่องจากเดิมกลุ่มเกษตรกรเป็นตัวช่วยในการอุ้มเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์ ในปี 2540 แต่ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มีการโยกย้ายมาทำงานในเมืองหลวงมากขึ้น ทำให้สัดส่วนผู้ถือครองภาคการเกษตรลดลง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าวจึงทำให้ประเทศขาดตัวช่วยในการพยุงเศรษฐกิจรากฐาน นายพรรษิษฐ์ กล่าวสรุป
อย่างไรก็ดี งานเสวนา "สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540" เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของนิทรรศการหมุนเวียน ชุด "ต้มยำกุ้งวิทยา :วิชานี้อย่าเลียน!" ที่เตรียมเปิดตัวขึ้น ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน ในวันที่ 6 มีนาคม 2560 เพื่อสร้างการเรียนรู้สังคมไทยอย่างสร้างสรรค์ ผ่านวิกฤตการณ์ที่คนไทยเลือกไม่ได้ ทั้งนี้งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคาร สาธรยูนีคทาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีคุณพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์ คุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีจีไอเอฟ คอร์ปปอเรชั่น จำกัด คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน นักเขียน และนักแปล คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน บรรณาธิการ และเจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks และดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา ตลอดจนมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาจำนวนมาก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit