กระทรวงเกษตรฯ เปิดตัวยิ่งใหญ่ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฏีใหม่ ถวายในหลวง” ผนึกกำลังทุกภาคส่วน น้อมนำศาสตร์พระราชาขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ 70,000 ราย ให้สำเร็จในปี '60

28 Feb 2017
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดงาน "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฏีใหม่ ถวายในหลวง" ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจาก ภาครัฐ หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ปราชญ์เกษตร และตัวแทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจาก 77 จังหวัด ทั่วประเทศ เข้าร่วมงานประมาณ 1,300 คน​

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีนโยบายจัดทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ขึ้น โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอ รวม 70,000 ราย ได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร โดยมุ่งหวังจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อันเกิดจากการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยการสร้างอาชีพอย่างเหมาะสมกับทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยได้คัดเลือกเกษตรกรที่มีความพร้อมเพื่อดำเนินการในปี 2560 จำนวน 70,000 ราย

ทั้งนี้ การจัดงาน "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฏีใหม่ ถวายในหลวง" มีวัตถุประสงค์ เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และให้ผู้ร่วมงานได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมการเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่สู่ความยั่งยืนและขยายผลออกสู่วงกว้าง ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่แนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ไปสู่สาธารณชน ทำให้เกษตรกรทั่วไปมีแรงบันดาลใจในการน้อมนำแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในกิจกรรมการเกษตรของตนเอง ควบคู่กับการใช้ประโยชน์การอนุรักษ์ดินและน้ำ สามารถพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น​

สำหรับบทบาทของ 5 ประสาน ประกอบด้วย 1. เกษตรกร โดยเริ่มต้นจากให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง ที่ต้องมีความพร้อม มีความสมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ เริ่มจากทำแบบง่าย ลงทุนน้อย แล้วค่อย ๆ ขยายตามฐานะของตนเอง 2. ปราชญ์เกษตร/เกษตรกรต้นแบบ/ศพก./ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงในการสร้างแรงบันดาลใจ แนะนำให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมความรู้ให้แก่เกษตรกร 3. ภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรฯ เป็นหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดกลุ่มเกษตรกรตามความพร้อม เพิ่มพูนองค์ความรู้ สำรวจความต้องการของเกษตรกร ตลอดทั้งประสานหน่วยงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทุกขั้นตอน 4. ภาคเอกชน โดยสนับสนุนทุนเริ่มต้น/ปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเยียน/ให้คำแนะนำ ตลอดทั้งจัดหาตลาดให้แก่เกษตรกร และ 5. สถาบันการศึกษา สนับสนุนองค์ความรู้ และเทคนิคการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกร โดยมีการขับเคลื่อนเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เดือน ก.พ.- เม.ย. 60 โดยเริ่มต้นจากเกษตรกรกลุ่มแรกที่มีความพร้อมมาก และยังไม่เคยทำเกษตรกรทฤษฎีใหม่มาก่อน จำนวน 21,000 ราย ระยะที่ 2 เดือน พ.ค.- ก.ย. 60 ส่งเสริมในกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมปานกลาง จำนวน 42,000 ราย และระยะที่ 3 เดือน ต.ค.- ธ.ค.60 ส่งเสริมในกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม 7,000 ราย หรือมากกว่า​

ในส่วนการดำเนินงานโครงการฯ แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เดือน ม.ค.- ก.พ. 60 โดยกำหนดผู้ร่วมบูรณาการทั้ง 5 ประสาน และพบปะสร้างการรับรู้ร่วมกัน ระยะที่ 2 เดือน มี.ค. – เม.ย.60 ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับ/เปลี่ยนพัฒนาตนเอง โดยปราชญ์เกษตรช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้เชิงปฏิบัติการตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่เกษตรกร การวิเคราะห์ตนเอง และวางแผนการผลิตตามศักยภาพ ระยะที่ 3 เดือน พ.ค.- ส.ค.60 การขับเคลื่อนการดำเนินงานในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน โดยดำเนินกิจกรรมตามแผนการผลิต ซึ่งภาคเอกชนจะสนับสนุนจัดหาปัจจัยการผลิตตามแผนที่เกษตรกรวางไว้ โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน ขณะที่ปราชญ์เกษตรจะคอยให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษา ติดตามต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินกิจกรรมการผลิตที่ง่ายและหลากหลาย เน้นกิจกรรมที่เกิดการเกื้อกูลกันภายในฟาร์มตามศักยภาพฐานะของตนเอง ตลอดทั้งวางแผนการตลาด และ ระยะที่ 4 เดือน ก.ย.- ธ.ค. 60 การติดตามเยี่ยมเยียน และประเมินผลความสำเร็จ เพื่อนำไปปรับแผนปฏิบัติงานให้เหมาะสมในเกษตรกรแต่ละราย ตลอดทั้งประเมินความยั่งยืน เพื่อปรับแนวปฏิบัติให้เกษตรกรสามารถขับเคลื่อนไปด้วยตนเองได้ในระยะยาวต่อไป

"วันนี้( 23 ก.พ. 60) ตรงกับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับสั่ง เรื่อง เกษตรทฤษฎีใหม่ ณ มหาวิทยาลัยแม้โจ้ จ.เชียงใหม่ เป็นครั้งแรก ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันประกาศเปิดตัวโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่70,000 แห่งทั่วประเทศ ที่จะดำเนินการให้สำเร็จภายใน ปี 2560 โดยดำเนินร่วมกับ 5 ภาคส่วนสำคัญดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ยังมีเกษตรกรหลายที่พื้นทีที่ยังทำเกษตรทฤษฎีใหม่ไม่ถูกต้อง เช่น ปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม กระทรวงเกษตรฯ จึงมุ่งมั่นที่จะบูรณาการดำเนินงานร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่า หากเกษตรกรสามารถทำเกษตรทฤษฎีใหม่ได้อย่างถูกต้อง สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นพื้นฐานในระยะแรก ในระยะต่อไปเกษตรกรก็จะสามารถขยายไปสู่การทำเกษตรปราณีตอย่างมีประสิทธิ โดยขยายผลในวงกว้างจาก 70,000 รายในปีนี้ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นในปีต่อไปได้" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว​

สำหรับกิจกรรมภายในงาน "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" ประกอบด้วย การมอบนโยบายขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กิจกรรมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ 5 ประสาน การร่วมปฏิญาณตนในการน้อมนำศาสตร์ของพระราชา เกษตรทฤษฎีใหม่มาปฏิบัติ การบรรยาย เรื่อง "ในหลวงกับเกษตรทฤษฎีใหม่" การเสวนาโต๊ะกลม ร่วม 5 ประสาน : แนวปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน (แนวทางปฏิบัติในระดับพื้นที่) โดยแยกกลุ่มเป็น 18 กลุ่มจังหวัด และการจัดนิทรรศการศาสตร์พระราชา "เกษตรทฤษฎีใหม่" และ นิทรรศการปราชญ์เกษตรต้นแบบ 4 ภาค