แม้ว่าไข้หวัดนกเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว จะเป็นวิกฤติที่ภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกทั่วโลกต้องเผชิญ หากแต่เมื่อมองวิกฤติให้เป็นโอกาสแล้ว จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นจุดผลักดันให้ผู้รับผิดชอบทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และผู้บริโภค ตื่นตัวและเล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ปีกและมาตรฐานอาหารปลอดภัยในประเทศเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาระบบการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพหรือระบบสุขาภิบาลป้องกันโรค (biosecurity) ในฟาร์มสัตว์ปีก มีการกำหนดเกณฑ์และตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ควบคู่กับการที่กรมปศุสัตว์ได้จัดให้มีระบบการเฝ้าระวังเชิงรุกและเชิงรับ (active and passive surveillance) การตรวจประเมินสุขภาพสัตว์ รวมทั้งมีการตรวจติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจถึงสถานะของฝูงสัตว์ปีกปลอดโรคในประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง ผู้บริโภคจึงเชื่อมั่นได้ว่าเนื้อไก่และไข่สดภายในประเทศไทยปลอดภัย ไร้กังวลจากโรคไข้หวัดนก และสามารถผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสากล
ที่ผ่านมาซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการป้องกันไข้หวัดนกอย่างจริงจังมาตลอด โดยฟาร์มของบริษัทตลอดจนเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่กับบริษัท ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดทำโครงการปลอดโรคไข้หวัดนก ด้วยระบบคอมพาร์ทเมนต์ ตามหลักการของ OIE ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้รูปแบบการบริหารจัดการในระบบคอมพาร์ทเม้นท์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจรอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแนวคิดที่ว่า "วิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง" ซีพีเอฟจึงมุ่งให้ความรู้แก่พนักงานและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกถึงเรื่องสุขศาสตร์ การป้องกันโรค วิธีการสังเกตอาการของสัตว์ปีกที่ป่วย และแนวทางการปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะสามารถป้องกันไม่ให้สัตว์ปีกเกิดโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบคอมพาร์ทเมนต์ดังกล่าว หมายถึง สถานประกอบการหรือกลุ่มสถานประกอบการ ซึ่งทราบสถานภาพของโรคไข้หวัดนก ภายใต้ระบบการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพร่วมกัน ตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมสำหรับโรคไข้หวัดนก โดยจะให้ความสำคัญการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่เชื่อมโยงภายในหน่วยงานและสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรค เพื่อให้ฝูงสัตว์ปีกมีสถานะปลอดจากโรคไข้หวัดนกโดยมีองค์ประกอบสำคัญด้านการจัดการใน 4 หมวดหลัก ได้แก่ 1. มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับสถานประกอบการ ตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม หรือ HACCP สำหรับโรคไข้หวัดนก 2. การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกาหนดของกรมปศุสัตว์ 3. การควบคุมโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และ 4. การตรวจสอบย้อนกลับ
ซีพีเอฟได้นำระบบคอมพาร์ทเม็นต์มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร โดยดำเนินการทั้ง 4 หมวดหลักอย่างจริงจัง นับตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ที่ทำการคัดสรรวัตถุดิบอย่างดี ขณะที่โรงฟักไข่สัตว์ปีก จะใช้ระบบการผลิตตามหลักการอาหารปลอดภัยเช่นเดียวกับโรงงานอาหารแปรรูป จากนั้นลูกไก่จะถูกส่งเข้าเลี้ยงในฟาร์มมาตรฐาน ในโรงเรือนปิดระบบปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ (EVAP) ที่มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการเลี้ยงจากภายนอกโดยผู้เลี้ยงไม่ต้องเข้าไปภายในโรงเรือน ระบบจะจัดการสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้สัตว์ปีกอยู่อย่างสบาย และรายงานข้อมูลการเลี้ยงตามเวลาจริง พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ตลอดเวลา เมื่อต้องเข้าปฏิบัติงานภายในโรงเรือน ผู้ปฏิบัติงานต้องทำความสะอาด ฆ่าเชื้อมือและรองเท้า ก่อนสัมผัสสัตว์ปีก รวมถึงรถขนส่งและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต้องผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งหมด ที่สำคัญต้องมีโปรแกรมการควบคุมและกำจัดสัตว์พาหะ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเข้าไปปนเปื้อนสัตว์ปีกภายในโรงเรือนได้ ตลอดจน มีโปรแกรมการเฝ้าระวังโรค ทั้งที่ฟาร์ม และพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์มตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ อีกทั้งมีมาตรการตรวจสอบก่อนการจับไก่เนื้อหรือเป็ดเนื้อส่งมอบโรงงาน เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ปีกปราศจากเชื้อก่อโรคและปลอดจากสารตกค้างที่เป็นอันตราย
สุดท้ายไก่เนื้อที่ถูกเลี้ยงจากฟาร์มในระบบคอมพาร์ทเม็นต์เท่านั้น ที่จะถูกส่งเข้าโรงงานแปรรูปที่มีมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพ ช่วยสร้างหลักประกันคุณภาพความปลอดภัยของอาหาร นับเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ประเทศคู่ค้าทั่วโลกมั่นใจและยอมรับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตลอดจนเนื้อสัตว์ปีกสดจากแบรนด์ซีพี ว่าปลอดโรคไข้หวัดนก ที่สำคัญบริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องด้วย
จากการปฏิบัติที่เคร่งครัดตามระบบคอมพาร์ทเมนต์สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกเชิงอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร ซีพีเอฟจึงเป็นผู้ผลิตสัตว์ปีกแห่งแรกของโลก ที่ทุกฟาร์มในระบบคอมพาร์ทเมนต์ปลอดจากโรคไข้หวัดนกตามเงื่อนไขของกรมปศุสัตว์ และตามมาตรฐานสากล และซีพีเอฟยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมดสู่อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกของไทย และในเวทีระดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งในการป้องกันโรคไข้หวัดนกของไทยจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หลายทวีปรวมถึงเพื่อนบ้านของไทยกำลังประสบปัญหาไข้หวัดนกอยู่ในขณะนี้ ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูกาลความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อไข้หวัดนก (ธันวาคม–มีนาคม) จากการอพยพย้ายถิ่นของฝูงนกจากฤดูกาลของเขตหนาวในซีกโลกเหนือมายังประเทศที่มีเขตอบอุ่น ดังนั้น เพื่อนเกษตรกรผู้ผลิตสัตว์ปีกต้องมีมาตรการเฝ้าระวังและดูแลฝูงสัตว์ปีกที่เข้มข้นขึ้น โดยใช้มาตรการการป้องกันโรคตั้งแต่ต้นทาง และการเลี้ยงด้วยวิธีที่ถูกต้อง ตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์และสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มอย่างเคร่งครัด มั่นใจได้ว่าป้องกันโรคไข้หวัดนกได้อย่างแน่นอนหากปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อย อาทิ เป็ดไล่ทุ่ง และไก่บ้าน ควรนำสัตว์ปีกเข้าไปเลี้ยงภายในโรงเรือนที่มีตาข่ายปิดมิดชิดและมีหลังคาคลุม เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกจากฝูงนกอพยพ ควบคู่กับการให้น้ำของสัตว์ปีกจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 ppm หรือ ปริมาณน้ำ 1,000 ลิตรใช้คลอรีนออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 กรัม รวมไปถึงการพ่นยาฆ่าเชื้อในกลุ่มกลูตาราลดีไฮด์หรือตามสัตวแพทย์แนะนำเป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ปีกได้ หากพบสัตว์ป่วยผิดปกติต้องรีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที
ส่วนผู้บริโภคสามารถป้องกันความเสี่ยงของโรคได้ ด้วยการเลือกซื้อสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและไข่จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานที่กรมปศุสัตว์รับรอง ทราบแหล่งที่มา และรับประทานเนื้อสัตว์ปีกที่สุกแล้วเท่านั้น เพราะการปรุงอาหารที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาสามารถก็สามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดนกได้แน่นอน และต้องคำนึงถึงพื้นฐานความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร
...สรุปคือเน้นเรื่อง "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ซึ่งยังเป็นคำขวัญที่ใช้ได้เสมอ./