สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) และมูลนิธิเทมาเส็ก เล็งเห็นความสำคัญในการขยายแนวทางการสอนสะเต็มไปสู่ระบบอาชีวศึกษา เนื่องจากเป็นระบบที่มีข้อได้เปรียบ ในแง่ของระยะเวลาการอยู่ในระบบการศึกษา รวมถึงการประยุกต์ทักษะและความรู้เพื่อการประกอบอาชีพได้ทันท่วงทีและตรงกับความต้องการของตลาด ระบบอาชีวศึกษาจึงถือเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการผลิตกำลังคนที่ถึงพร้อมด้วยทักษะเพื่อรับมือกับการแข่งขันในศตวรรษที่ 21
ในขณะเดียวกันสะเต็มศึกษาก็เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่จะขยายขีดความสามารถผู้เรียนในการบูรณาการความรู้เพื่อวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์ โดยเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและภารกิจตามวิชาชีพ การนำแนวทางสะเต็มศึกษามาใช้กับระบบอาชีวศึกษา จะถือเป็นมิติใหม่ที่นำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนสมรรถนะตามวิชาชีพในระยะยาว แก่ผู้เรียนในระบบอาชีวศึกษา จึงร่วมกับสถาบันการศึกษาแห่งชาติ สิงคโปร์ และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จัดโครงการความร่วมมือพัฒนาผู้นำการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่สายอาชีพ
รองศาสตราจารย์ ดร. สัญญา มิตรเอม รองผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า การเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ต้องการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ และเตรียมกำลังคนสู่อนาคต ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาและสนับสนุนการศึกษาด้านสะเต็มมาอย่างต่อเนื่องการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกและอบรมครู อาจารย์และนักวิชาการที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย และจากสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อสร้างผู้นำการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้แนวทางสะเต็มจัดการเรียนรู้ทั้งในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และระบบอาชีวศึกษา โดยใช้หลักสูตรที่พัฒนาโดยสถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถาบันการอบรมครูเพียงแห่งเดียวในประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ Nanyang Technical University ประเทศสิงคโปร์
นายเบเนดิก เฉิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิเทมาเส็ก (TF International) ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า เทมาเส็กให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการศึกษาด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษารวมทั้งการฝึกอบรมนี้ โดยหลักสูตรที่สร้างขึ้นได้เน้นหนักในวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม เพื่อให้ผู้นำรุ่นใหม่ๆ ของเรามีคุณสมบัติที่พร้อมรองรับความต้องการและสามารถจัดการกับความท้าทายของเทคโนโลยีในอนาคตได้ โดยในครั้งนี้มูลนิธิให้การสนับสนุนโครงการฯ เป็นมูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ ดร. ตัน ออน เส็ง ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) ให้ข้อคิดเห็นว่า NIE ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในไทยด้านการปรับปรุงหลักสูตรและโครงสร้างการทำงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาความสามารถในการสอนด้านสะเต็มศึกษา ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความสำเร็จในการนำสะเต็มศึกษาไปใช้ หลักสูตรสะเต็มศึกษาในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความชำนาญและความรู้ให้แก่นักวิชาการ สสวท. รวมทั้งครูสะเต็มของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (OVEC) รวม140 คน โดยหลักสูตรนี้มีระยะเวลา 2 ปี มุ่งเน้นเนื้อหาและทักษะปฏิบัติในการเรียนการสอนสะเต็มเพื่อสร้างสมรรถนะในเรื่องของสะเต็มศึกษา
การพัฒนาความเป็นมืออาชีพและการศึกษาของครูซึ่ง NIE ดำเนินงาน ได้ขยายสู่พันธมิตรนานาชาติเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศอื่นๆ ด้วย และหวังว่าผู้เชี่ยวชาญของ NIE จะสามารถช่วยกันสร้างมิติใหม่ให้หน่วยงานพันธมิตรของเราในประเทศไทยบรรลุเป้าหมายระดับชาติ ซึ่งมุ่งสร้างคนให้มีความพร้อมรองรับเศรษฐกิจในอนาคตได้
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า "คณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพมากขึ้นโดยได้มีนโยบายการบูรณาการสะเต็มศึกษาในการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษา โดยบางส่วนได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ได้สนับสนุนบุคลากรและงบประมาณสำหรับบุคลากร ในการเข้ารับการอบรมและคัดเลือกให้เป็นวิทยากรหลักของโครงการ และจะมีการขยายผลไปสู่สถานศึกษาสังกัดคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในแต่ละภูมิภาคต่อไป"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit