นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2560 ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในหลายพื้นที่ ประกอบกับข้อมูลปริมาณน้ำของกรมชลประทาน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่งไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรได้ แต่ยังคงจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศได้ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยประสานจังหวัดจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการป้องกัน แก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมีแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
ด้านการลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง โดยจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ พร้อมจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย อีกทั้งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนทรัพยากร กำหนดภารกิจ แบ่งมอบพื้นที่และหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมถึงประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำและข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมิน คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้ง ตลอดจนสำรวจภาชนะกักเก็บน้ำกลางให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตรวจสอบปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ และจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และวางแผนจัดสรรน้ำอย่างทั่วถึง รวมถึงกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำกลางประจำหมู่บ้านที่เข้าถึงผู้ใช้น้ำทุกกลุ่ม อีกทั้งรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ โดยปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนวางแผนป้องกันโรคระบาดในช่วงฤดูแล้ง การดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน กำหนดมาตรการป้องกันอาชญากรรมซ้ำเติมความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย
ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ด้วยการจัดรถบรรทุกน้ำและระดมรถสูบน้ำระยะไกลสูบน้ำดิบไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน ขุดลอกและปรับปรุงแหล่งน้ำตามมาตรการ "1 ตำบล 1 แหล่งกักเก็บน้ำ" ขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาล พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำส่งน้ำไปยังพื้นที่ขาดแคลน รวมถึงประสานจัดทำฝนหลวงในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ตลอดจนวางแนวทางการแก้ไขปัญหาการแย่งน้ำ โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองร่วมกับหน่วยทหารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ กำหนดข้อตกลงในการใช้น้ำร่วมกัน โดยเฉพาะบริเวณที่มักมีการลักลอบสูบน้ำและเกิดปัญหาการแย่งน้ำ ที่สำคัญ ให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อดูแลประชาชนมิให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศตลอดช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทาง สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป