รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการติดตามโบราณวัตถุฯ ประกอบด้วย 1.สำรวจและรวบรวมข้อมูลและภาพถ่าย โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยที่กระจัดกระจายอยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งจัดหมวดหมู่และลำดับความสำคัญของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการติดตาม 2.ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศแจ้งสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ ดำเนินการตรวจสอบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของไทยในต่างประเทศ เพื่อใช้ติดตามและขอคืนกลับสู่ไทย 3.แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการและสื่อมวลชน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลกำหนดมาตรการดำเนินการและวางกรอบแนวทางในการปฏิบัติ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและต่างประเทศ
4.ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เปรียบเทียบข้อมูลทางวิชาการโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เพื่อพิสูจน์ความเป็นของแท้ดั้งเดิม การกำหนดแบบศิลปะ อายุสมัย และยืนยันแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 5.ศึกษาแนวทางการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายขององค์การ การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ค.ศ. 1970 และอนุสัญญาสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการทำให้กฎหมายเอกชนมีเอกภาพว่าด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมหรือส่งออกโดยผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องและติดตามโบราณวัตถุฯ ในต่างประเทศ ทั้งนี้ เบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายกรมศิลปากรทบทวนเนื้อหาร่างแก้ไขพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน พ.ศ.2535 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯทั้ง 2 ฉบับ
6.สำรวจเพื่อจัดทำข้อมูลจากการสำรวจโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในความครอบครองของเอกชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล 7.การควบคุมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในการนำออกและนำเข้าภายในประเทศ 8.ควบคุมสถานการค้าและการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยขึ้นทะเบียนร้านค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ 9.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุโดยใช้วิธีทางการทูต และกฎหมายต่างๆ และ 10.เปิดเวทีให้ความรู้แก่ประชาชนและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั้งในระดับท้องถิ่นและชาติ