พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งมีเป้าหมายการรับซื้อรวม 800 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น หน่วยงานราชการ 400 เมกะวัตต์ และ สหกรณ์ภาคการเกษตร 400 เมกะวัตต์ โดยโครงการฯ ในระยะที่ 1 จากเป้าหมายการรับซื้อ 400 เมกะวัตต์ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตรทั้งหมด จำนวน 67 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 281.32 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโครงการฯ ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนด 55 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 232.87 เมกะวัตต์ ปฏิเสธการรับซื้อ 1 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ และอีก 11 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 43.45 เมกะวัตต์ ได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากมีเหตุที่ทำให้โครงการฯ ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณา สำหรับโครงการฯ ในระยะที่ 2 เนื่องจาก กกพ. จำเป็นต้องหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกรณีหน่วยงานราชการ จึงออกประกาศจัดหาไฟฟ้าฯ ได้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 โดยมีเป้าหมายการรับซื้อ 219 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น สหกรณ์ภาคการเกษตร ประมาณ 119 เมกะวัตต์ และหน่วยงานราชการ 100 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 แต่เนื่องจากในทางปฏิบัติมีข้อจำกัด ทั้งระยะเวลาในการดำเนินงานและข้อกำหนดตามกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลทำให้โครงการฯ ไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับสถานการณ์ และขั้นตอนการดำเนินงานในทางปฏิบัติ ที่ประชุม กพช. จึงได้เห็นชอบมอบอำนาจให้ กบง. พิจารณาการขยายระยะเวลาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโครงการฯ ในระยะที่ 1 สำหรับกรณีที่ กกพ. พิจารณาการอุทธรณ์แล้วฟังขึ้น แต่ทั้งนี้ให้กำหนดบทลงโทษปรับลดอัตรา FiT ลง ร้อยละ 5 จากอัตรา FiT ที่เคยได้รับอนุมัติไว้ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกรณีโครงการโซลาร์ค้างท่อ และหักลดระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามเหตุผลข้อเท็จจริงจากการอุทธรณ์ โดยอายุของสัญญาจะยังสิ้นสุดภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2584 พร้อมเห็นชอบให้เลื่อนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 (โครงการฯ ระยะที่ 2) จากเดิมภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2561 โดยมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และเห็นชอบให้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ ภายหลังจากการดำเนินการในระยะที่ 2 แล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ สำนักงานบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2560 รวมทั้งจัดทำรายละเอียดการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (RIA) และกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ครม. และ สนช. ต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ผันผวนมากจนเกินไป รวมทั้งเป็นกลไกหลักของประเทศในการป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง สนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน
รวมทั้งรับทราบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาวะวิกฤติก๊าซธรรมชาติ ปี 2564 – 2566 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เนื่องจากความล่าช้าของการสรุปแนวทางการบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทย ทำให้การผลิตไม่ต่อเนื่องและก๊าซมีปริมาณลดลง รวมทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลทำให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่คาดการณ์ไว้ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) ที่ปรับปรุงใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าปัญหาดังกล่าวฯ จะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 13,623 ล้านหน่วย หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 1,700 เมกะวัตต์ โดยกระทรวงพลังงานมีมาตรการในการดำเนินการต่างๆ ดังนี้ การเจรจาตกลงราคาและปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติโครงการบงกชเหนือ โดยมีการรับประกันอัตราขั้นต่ำในการผลิต ในช่วงปี 2562 - 2564 เพื่อให้มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติก่อนสิ้นอายุสัมปทานในปี 2565 เพิ่มขึ้น พร้อมกำหนดแนวทางเลือกสำหรับการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Side) อาทิ การส่งเสริมติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อลดความต้องการไฟฟ้าช่วงพีคกลางวันและการใช้มาตรการ Demand Response (DR) เพื่อประหยัดไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ภาครัฐกำหนดเป็นการเฉพาะ สำหรับด้านการจัดหาเชื้อเพลิง/พลังงานไฟฟ้า (Supply Side) อาทิ การจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย (JDA) การเพิ่มความสามารถในการเก็บสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เช่น การขยายโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 1 มาบตาพุด จ.ระยอง และเร่งรัดการพัฒนาโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น รวมถึงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม เช่น รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว หรือกัมพูชา) และรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกตามนโยบาย SPP Hybrid-Firm และ VSPP-Semi Firm เพิ่มขึ้น เป็นต้น
สำหรับโครงการ "โรงไฟฟ้า-ประชารัฐ" สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุม กพช. รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ซึ่งปัจจุบันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 แห่ง คือ พื้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส พื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 15.9 เมกะวัตต์ และจะจ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายของ กฟภ. รวม 12 เมกะวัตต์ ใช้เศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2562 – 2563 ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว ยังกำหนดให้มีการจัดสรร 10% ของกำไรสุทธิในแต่ละปีกลับคืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมระบบป้องกันตนเองของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในชุมชนอย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit