โครงการความร่วมมือการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในครั้งนี้ เป็น โครงการนานาชาติที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้เป็นโอกาสในการได้รับประสบการณ์การทำงานในชีวิตจริงในบริบทระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการฝึกงานของนักศึกษา อีกทั้งโปรแกรมนี้จะช่วยให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ จากโปรแกรมการศึกษาที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้น นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากทั้งสองกลุ่ม โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้สอนวิชาภาษาไทย และวัฒนธรรมไทยให้กับกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคนเทอร์เบอรี่เป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันก็จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ แนวคิด พัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงวัฒนธรรม ความมีระเบียบวินัย ความตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบของชาวกีวี โดย น.ส.รัญชนา ปู่สา หนึ่งในนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความเห็นว่า การสอนหลักสูตรนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี เพราะเธอต้องการอยากเป็นครูในอนาคต จะทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นและยินดีที่จะเรียนรู้ "จากการที่ได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวกีวี ที่เมืองไครท์เชิร์ช 6 สัปดาห์นี้ ถือว่าสุดยอดมากๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่หนูได้ทำการฝึกสอน และเตรียมการสอนเองทั้งหมด หนูต้องศึกษาเยอะมาก เพื่อการเตรียมตัวเป็นครูที่มีคุณภาพในอนาคต ซึ่งทุกคนที่นี่เป็นมิตร และมองโลกในแง่ดี พวกเขาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้เราได้ฝึกพัฒนาตนเองอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังได้เปิดโลกกว้าง ไปเที่ยวในที่ต่างๆ มากมาย มีร้านอาหารที่แสนวิเศษ กาแฟรสชาติดี มีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยให้ศึกษา อีกทั้งธรรมชาติที่โน่นสวยมาก ทะเลสะอาดเป็นสีเขียวสดใส ได้เห็นปลาวาฬ ได้ถ่ายรูปสวยๆ เยอะแยะเลย"
ส่วน Julie Qiu นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคนเทอร์เบอรี่ เล่าว่า เธอและเพื่อนนักศึกษาแคนเทอร์เบอรี่ คนอื่นๆ สามารถสัมผัสกับวัฒนธรรมไทยทุกแง่ทุกมุม ได้เป็นเพื่อนกับคนในท้องถิ่น ได้ลองลิ้มรสอาหารไทยอร่อยๆ และได้สัมผัสกับสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามมากมายของไทย โดย Julie Qiu ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์อันประทับใจในไทยว่า "การมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับเพื่อนๆ และน้องๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นสนุกมากๆ ทั้งอาจารย์และเพื่อนๆ ทุกคนให้ความสนใจ และตั้งอกตั้งใจเรียนกันเป็นอย่างดี ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือผลักดันให้ผ่านการเรียนไปด้วยกันได้อย่างสนุกสนาน สลับกับการเรียนรู้ภาษาไทยที่เพื่อนๆ นักศึกษาได้สอนให้ด้วย นับเป็นบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยความสุข นอกจากนี้ฉันยังได้ทำงานในสำนักกฎหมาย และศูนย์การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ฉันได้รับประสบการณ์ที่มีค่า เป็นประสบการณ์ที่ฉันจะไม่มีวันลืม เพราะหลังจากที่กลับมา ทำให้ฉันได้ทำงานในช่วงฤดูร้อนที่ Duncan Cotterill"
ด้าน ดร.ฉันฐรัช หงส์บุญไตร รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเคนเทอร์เบอรี่นี้ว่า "สำหรับหลักสูตรฝึกงานระยะเวลา 6 สัปดาห์นี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลมีโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า จากการไปทำงานในต่างประเทศ ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม และภาษา เช่นเดียวกับนักศึกษาส่วนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเคนเทอร์เบอรี่ที่มาฝึกงานกับเรา ก็ได้ร่วมงานกับกลุ่มงานวิจัยของกรีนพีซ และงานด้านการตลาดกับกลุ่มโรงแรมใหญ่ๆ ในประเทศไทย รวมถึงได้เป็นครูผู้ช่วยสอนที่มหิดลเราด้วย โดยนักศึกษาที่มาฝึกงานที่นี่จะได้รับความสะดวกสบาย และได้เรียนรู้วัฒนธรรมในเชิงลึกที่ไม่เหมือนใคร เสริมด้วยการเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ พักผ่อนแบบโฮมสเตย์กับครอบครัวชาวประมงท้องถิ่น และเยี่ยมชมปางช้าง ซึ่งโปรแกรมพิเศษนี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้และการเติบโตของนักศึกษา"
Tony Mortenson, UC Director of International Growth Strategies กล่าวว่า "การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ทางมหาวิทยาลัยเคนเทอร์เบอรี่ เคยได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ มากมาย ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้ ได้ให้ประสบการณ์ระหว่างประเทศที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักศึกษาของแคนเทอร์เบอรี่เป็นอย่างมาก และในอนาคตตลาดด้านการศึกษาของนิวซีแลนด์จะสามารถผลิตนักศึกษาที่มีทัศนคติ และทักษะในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีความรับผิดชอบ ในโลกที่ที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น และมหาวิทยาลัยเคนเทอร์เบอรี่มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำโครงการความร่วมมือครั้งนี้"
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ www.studyinnewzealand.govt.nz
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit