กรมควบคุมโรคจับมือ กทม. ชู “4 ดี 10 เกณฑ์มาตรฐาน” ป้องกันควบคุมโรค”มือ เท้า ปาก” ในศูนย์เด็กเล็ก รับเปิดเทอม

29 May 2017
รับเปิดเทอมใหม่ปีนี้ กรมควบคุมโรคจับมือกรุงเทพมหานคร ชู "4 ดี 10 เกณฑ์มาตรฐาน" เป็นแนวทางป้องกันควบคุมโรค"มือ เท้า ปาก"และโรค ติดต่อในศูนย์เด็กเล็กหลังข้อมูลชี้ช่วงเปิดเทอมของ ทุกปี มักมีการระบาดของโรคมือเท้าปาก โดยเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสุด เฉพาะปีที่แล้วช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน (พ.ค.-ส.ค.) เพียง 4 เดือน พบเด็กป่วยมือเท้าปากมากถึง 50,156 ราย หรือร้อยละ 63 และเสียชีวิต 2 ราย ในขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 16 พ.ค.60 พบผู้ป่วยแล้ว 17,949 ราย เสียชีวิต 1 ราย
กรมควบคุมโรคจับมือ กทม. ชู “4 ดี 10 เกณฑ์มาตรฐาน” ป้องกันควบคุมโรค”มือ เท้า ปาก” ในศูนย์เด็กเล็ก รับเปิดเทอม

วันนี้ (25 พฤษภาคม 2560 ) นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) กรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์ " 4 ดี 10 เกณฑ์มาตรฐาน" ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ รับ "เปิดเทอมใหม่" ว่าการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล รวมทั้งสถานรับเลี้ยงเด็กให้ปลอดโรคและน่าอยู่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นมาก เพราะสถานที่เหล่านี้ถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก ซึ่งเด็กจะใช้ชีวิตช่วงกลางวันร่วมกัน หากเด็กคนใดคนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ ได้แก่ 5 โรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก โรคไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก โรคสุกใส โรคตาแดง และโรคอุจจาระร่วง ฯลฯ จะติดกันง่ายและรวดเร็ว ทำให้เด็กต้องหยุดเรียนและอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมองได้ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอมและมีฝนตกต่อเนื่อง สภาพอากาศที่ร้อนชื้นอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปากซึ่งมักมีการระบาดในช่วงเปิดเทอมของทุกปี จึงขอให้ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดูเด็กในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ตระหนักและระมัดระวังโรคนี้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ

ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบ คุมโรคตั้งแต่ 1 มกราคม - 16 พฤษภาคม 60 พบผู้ป่วยแล้ว 17,949 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในขณะที่ปี 2559 พบผู้ป่วยทั้งหมด 79,910 ราย เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งผู้ป่วย 70,874 ราย หรือเกือบทั้งหมดประมาณร้อยละ 89 เป็นเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และยังพบอีกว่าช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน(พ.ค.-ส.ค.)ของปีที่แล้ว เพียง 4 เดือน มีผู้ป่วยมากถึง 50,156 ราย หรือร้อยละ 63 ซึ่งโรคนี้จะติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง เชื้อไวรัสโรคมือ เท้า ปากจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วยหรือติดต่อจากไอ จาม รดกัน

สำหรับช่วงเปิดเทอมปีนี้กรมควบคุมโรคได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครดำเนินการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล รวมทั้งสถานรับเลี้ยงเด็กให้ถูกต้องเหมาะสมได้มาตรฐานศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ ด้วยการชู " 4 ดี 10 เกณฑ์มาตรฐาน" เป็นแนวทางดำเนินการ โดย ดี1 คือครูผู้ดูแลเด็กมีสุขภาพและความรู้ดี เป็นแบบอย่างในเรื่องสุขภาพ แข็งแรง มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และมีความรู้ความสามารถในการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก ดี 2 คือสภาพแวดล้อมของศูนย์เด็กเล็กดี ในอาคารต้องมีบริเวณเพียงพอต่อปริมาณเด็กเล็ก มีสุขอนามัยดี อากาศถ่ายเทดี ทั้งภายในอาคารและภายนอกสะอาด ดี3 คือการบริหารจัดการดี ผู้บริหาร มีนโยบายส่งเสริมและเอื้อต่อการพัฒนาเด็กทุกด้าน ดี4 คือดีต่อใจผู้ปกครองในการฝากเด็กไว้ในการดูแลของศูนย์ ประกอบอาชีพด้วยความสบายใจ ไม่ห่วง ไม่กังวล

ส่วนการดำเนินการตาม 10 เกณฑ์มาตรฐานได้แก่ 1. ครูผู้ดูแลเด็กทุกคนต้องได้รับการอบรมเรื่องการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กเล็กปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย 2. ตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนทุกภาคเรียน 3. ตรวจสุขภาพร่างกายและบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกคนทุกวัน4. มีมาตรการเบื้องต้น ในการป้องกันควบคุมโรค ได้แก่ การแยกเด็กป่วยอย่างถูกวิธี การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ 5. ครูผู้ดูแลเด็กทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เอกซเรย์ปอด ทุก 1-2 ปี 6. ครูผู้ดูแลเด็กมีสุขภาพแข็งแรง หากป่วยต้องหยุดพักที่บ้านจนกว่าจะหาย 7.ครูผู้ดูแลเด็กสอนเด็กป้องกันควบคุมโรคอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง 8. ครู สอนเด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกวัน 9. ครู ดูแลเด็กป่วยเบื้องต้นและส่งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 10. ครูให้ความรู้ผู้ปกครองเรื่องโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กอย่างน้อยปีละครั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ด้านนายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในเด็กเล็ก โดยเฉพาะโรคโรคมือ เท้า ปากที่มักพบในช่วงเปิดเทอม จากรายงานสถานการณ์พบว่าในกรุงเทพมหานคร : ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 พฤษภาคม 2560 มีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 2,340 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ประเทศ พบว่ากรุงเทพมหานครมีอัตราป่วยสูงกว่าประเทศ (จำนวนผู้ป่วย 17,949 ราย) เมื่อพิจารณาอัตราป่วยจำแนกรายอายุ พบว่า กลุ่มอายที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด คือ กลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปีอัตราป่วย 704.04 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี (135.45) และกลุ่มอายุ 10.14 ปี (13.49) กรุงเทพมหานครจึงให้ความสำคัญในการดูแลสุขอนามัย ความสะอาดของสิ่งแวดล้อม เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายและลดการป่วยของเด็ก โดยการเปิดเทอมครั้งนี้ได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคในการป้องกันโรคให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในสถานที่รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล เข้มข้นในมาตรการเพื่อให้เด็กเล็กมีสุขภาพดี ทั้ง 4 ดี และ 10 เกณฑ์มาตรฐานในการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก เพื่อให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสุขภาพดีปลอดภัยจากโรคมือ เท้า ปาก

HTML::image( HTML::image( HTML::image(